วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554

คมสันต์ สุทนต์รับงานพิธีกร,ดำเนินรายการ,วิทยากร ด้านดนตรี ศิลปวัฒนธรรม

คมสันต์ สุทนต์รับงานพิธีกร,ดำเนินรายการ,วิทยากร ด้านดนตรี ศิลปวัฒนธรรม ติดต่อ 089 956 4055





Previous Job

พิธีกรงาน “ยอยศยิ่งฟ้าอยุธยา มรดกโลกและงานกาชาด ประจำปี 2553”Ayutthaya world Heritage and red Cross Fair 2010
10 -19 ธันวาคม 2553
ณ วัดหลังคาขาว (ตรงข้ามวัดมหาธาตุ) อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

พิธีกรงาน “ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา ครั้งที่ 1”
5-7 สิงหาคม 2554
ณ อุทยาน ร. 2 และวัดภุมรินทร์กุฎีทอง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
โดยมูลนิธิหลวงประดิษบ์ไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง)

พิธีกรงาน “แถลงข่าวงานมหกรรมโนราโรงครู”
17 มกราคม 2554
ณ บริเวณโถงหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

ดำเนินรายการเสวนางาน “เกริกวิชาการ ปี 2554”2-4 กุมภาพันธ์ 2555
ณ มหาวิทยาลัยเกริก กรุงเทพมหานคร
โดยศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเกริก


วิทยากรรับเชิญ “โครงการศิลปะการพูดในที่ชุมชนและการพัฒนาบุคลิกภาพ”
ณ ห้อง ศร 301 อาคารเรียนรวม 70 ปีแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
วันพุธที่ 25 สิงหาคม 2553
โดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่

ดำเนินรายการเสวนางาน “โครงการเสาหลักของแผ่นดินด้านดนตรีไทย:
ครูเฉลิม ม่วงแพรศรี ศิษย์พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี)

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน 2554
ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ
โดยสาขาวิชาดนตรีศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




พิธีกรงาน “ประชันปี่พาทย์ไหว้ครูวัดพระพิเรนทร์”
8 กันยายน 2554
ณ วัดพระพิเรนทร์ วรจักร กรุงเทพมหานคร
โดยสมาคมสงเคราะห์สหายศิลปิน



Next Job

ดำเนินการเสวนา “เดินตามรอยครู เชิดชูเพลงเก่า น้อมเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว " ครั้งที่ 5

วันที่.......เดือนพฤศจิกายน 2554
ณ หอประชุมศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ตลิ่งชัน กรุงเพทฯ
โดยกองส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


พิธีกรงานประชันปี่พาทย์ไหว้ครู วัดบำรุงธรรม ต.บ้านใหม่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

วันเดือนปี ..........................(งานเลื่อนจนกว่าน้ำท่วมจะลด)
ณ วัดบำรุงธรรม ต.บ้านใหม่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
โดย คุณทนง บัวหลวง เจ้าภาพงาน / อ.ชัยยุทธ โตสง่า ผู้จัดการปี่พาทย์ประชัน


พิธีกรงานประชันปี่พาทย์ วัดช่างทอง อ.บางประอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

วันเดือนปี .........(งานเลื่อนจนกว่าน้ำท่วมจะลด)
ณ วัดช่างทอง อ.บางประอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
โดย งานทำบุญอัฐิหลวงพ่อแกละ / อ.ชัยยุทธ โตสง่า ผู้จัดการปี่พาทย์ประชัน










วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

คมสันต์ สุทนต์ ผู้ดำเนินรายการเชิญชม “บางบรรเลงเพลงระนาด” ตอนไหว้ครู







คมสันต์ สุทนต์ ผู้ดำเนินรายการเชิญชม “บางบรรเลงเพลงระนาด” ตอนไหว้ครู พาไปร่วมงานไหว้ครูเทพนาฏดนตรีที่วัดพระพิเรนทร์ พูดคุยกับครูบุญเลิศ นาจพินิจ ศิลปินแห่งชาติ (พระเอกลิเก-นักระนาด), คุณหมอสุพจน์ อ่างแก้ว ประธานสมาคมสงเคราะห์สหายศิลปิน,คุณลุงทวี อิศรางกูร ณอยุธยา, พี่ปู ดอกกระโดน-อ.บุญสร้าง เรือนนนท์ คนระนาดไหว้ครู

ไปรู้จักและไหว้ครูมนุษย์ ครูต๋อง-อนุสรณ์ พรมวิหาร หนุ่มหล่อวิศกรทางการพิเศษฯ กับพ่อจ้อย-ดำรงศักดิ์ พรมวิหาร ที่มีใจเชื่อมโยงครูเทพและลูกศิษย์ตัวน้อย ที่เรือนบรรเลง แห่งบุรีรัมย์ (อ.นางรอง) ชมรมดนตรีไทยบ้านโคกมะค่าโหรน เรื่องราวของผ้าป่าเครื่องดนตรีไทย ยกบ้านไม้ให้เป็นเรือนสอนดนตรีไทย หมู่บ้านที่กล่าวขานกันว่าท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) เคยไปสอนวิชาดนตรีไทยที่นั่น?

“บางบรรเลงเพลงระนาด” ตอนไหว้ครู วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม 2554 เวลา 23.00 น. ทาง ไทยพีบีเอส “แล้วคุณ..จะรักระนาด ทุกชาติไป”

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

ครูช่างหนังใหญ่บางน้อย โดยคมสันต์ สุทนต์

สงัด ใจพรหม ครูช่างหนังใหญ่บางน้อย
ศิลปินดีเด่น สาขาทัศนศิลป์ จังหวัดสมุทรสงคราม ประจำปี 2542


ข้าไหว้พระเสร็จเรืองฤทธา ทศรถมหา
เป็นเจ้าสำหรับพระธรณี
ไหว้บาทวรนาถจักรี ในพื้นปัถพี
ผู้ใดจะเปรียบปานปูน ……………..
จากบทพากย์ไหว้ครูหนังในสมุทรโฆษคำฉันท์ (ประมาณ พ.ศ. 2200)

ถ้าพูดถึงหนังใหญ่ มหรสพไทยที่ว่ายิ่งใหญ่อลังการอย่างชื่อ ใครหลายคนคงเคยได้ดู ได้รู้ว่ายังพอหาชมได้ในรูปแบบสาธิตที่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี, วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง และวัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี
ใครบ้างจะรู้ว่าที่วัดบางน้อย อำเภอบางคณฑี ก็เคยมีหนังใหญ่เหมือนกัน?

นี่คือที่มาของการตามหาหนังใหญ่ สมุทรสงคราม เป็นการเดินทางที่ไม่ได้นัดหมายล่วงหน้าแต่อย่างใด ตามคำบอกเล่านั้นว่ามีครูช่างท่านหนึ่งใช้ชีวิตวัยเกษียนอยู่ที่บ้านสวนหลังวัดบางน้อย ตอนแรกก็เข้าใจว่าน่าจะอยู่แถวตลาดน้ำบางน้อย ตลาดน้ำที่สงบเงียบเหมาะกับคนที่ไม่ชอบความพลุกพล่าน อยู่ในเขตอำเภอบางคณฑี ห่างจากตลาดน้ำอัมพวาประมาณ 5 กิโลเมตร แต่ก่อนชาวบ้านร้านถิ่นเขาเปิดขายของกันเฉพาะ 3, 8 และ 13 ค่ำ เดี๋ยวนี้เอาใจนักท่องเที่ยวเลยเปิดเสาร์-อาทิตย์ด้วย

พอไปถึงตลาดน้ำบางน้อย สอบถามผู้คนแถวนั้นเขาบอกว่า วัดบางน้อยต้องไปอีกหน่อย ไปเรือก็ได้ ขับรถก็ทะลุสวนเดี๋ยวก็ถึง ตรงนี้เขาเรียก บางน้อยนอก (วัดเกาะแก้ว)ส่วนที่ผมกำลังจะไปนั้นเรียก บางน้อยใน(วัดบางน้อย)

ผมขับรถลัดเลาะสวนผลหมากรากไม้ ขึ้นเส้นถนนใหญ่เข้าซุ้มประตูวัดบางน้อย วัดอยู่ทางขวามือ ส่วนโรงเรียนอยู่ด้านซ้ายมือ ซึ่งยังเป็นอาคารไม้แบบเดิมๆ ใครที่เคยเป็นนักเรียนประชาบาล เห็นแล้วต้องนึกวัยเด็กตอนเรียนประถมฯ สุดเขตอภัยทานต้องข้ามสะพานแคบพอดีรถเล็กข้าม รถใหญ่อย่างสิบล้อหมดสิทธิ์ข้าม กลับเข้าสู่สวนบรรยากาศสวนมะพร้าวผืนใหญ่ ตำบลยายแพง ผมนึกในใจไม่รู้สามีแกชื่อ ตาถูกหรือเปล่า ?.... ถามไถ่หนทางคนแถวนั้นไม่นานนักก็บึ่งมาถึงเป้าหมายยามบ่ายคล้อยจนได้

บ้านไม้ริมคลองตาหลวง ซึ่งฝั่งตรงข้ามเป็นเขตจังหวัดราชบุรี เยื้องกันทางฝากกะโน้น ยังได้ยินเสียงผู้คนในชุมชนตีมีดกันดังเชิ้งชั๊งๆ อย่างกับเสียงประกอบหนังจีนกำลังภายใน คิดว่เป็นดนตรีประกอบจังหวะการแสดงเบิกโรงหนังใหญ่ซะเลย

“วัดบางน้อยแต่ก่อนสมัยหลวงพ่ออยู่ มีหนังใหญ่ราวๆ 30 0 ตัว ตอนสมัยประถมฯ ช่วงพักกลางวันผมกับเพื่อนยังเคยแอบขึ้นไปบนศาลา ไปหยิบหนังใหญ่มาเชิดเล่นเลย หลังหลวงพ่ออยู่มรณะภาพเขาก็เลิกเล่นหนังกันแล้ว แต่น่าเสียดายโดนไฟไหม้ไปพร้อมกับกุฏิศาลา โชคดียังเหลือให้เห็นเป็นบุญตา 10 ตัว ในซากเถ้ากองเพลิง” ครูสงัด ใจพรหม ชายวัย 83 ปี ที่ร่างรายยังแข็งแรงเดินเหินคล่องแคล่ว ขัดแย้งกับตัวเลขอายุ เริ่มต้นเล่าถึงหนังใหญ่ให้ฟังด้วยน้ำเสียงเมตตายิ่งนัก เสมือนว่าผมเป็นศิษย์ หรือลูกหลานคนหนึ่งของท่าน

“ผมเคยไปสำรวจหนังใหญ่หลายที่ อย่างวัดขนอน จังหวัดราชบุรี ตัวหนังส่วนใหญ่เป็นฝีมือช่างท้องถิ่น บางตัวที่มีฝีมือเด่นๆ น่ามาจากช่างของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ (พ.ศ.2406-2490) ซึ่งหลวงปู่กล่อม อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอน(พระครูศรัทธาสุนทร พ.ศ.2391 – 2485) กับหลวงพ่ออยู่ อดีตเจ้าอาวาสวัดบางน้อยเป็นเพื่อนเกจิอาจารย์และมีหนังใหญ่เหมือนกัน แต่ท่านจะเด่นทางด้าน ดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล...

...ที่เพชรบุรี วัดพลับพลาไชย ก็มีตัวหนังใหญ่ แต่ไม่รู้ว่าใครทำ(ช่างสร้างหนังใหญ่) เพราะไฟไหม้ไปหมดแล้วเหมือนกัน และที่อัมพวานี่สมัยก่อนก็มีช่างแกะหนังใหญ่ชื่อนายดี พ่อของครูเอื้อ สุนทรสนาน และที่วัดราษฎร์บูรณะ ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา ก็เคยมีหนังใหญ่ แต่ลูกหลานเจ้าของเดิมเขาขายยกตับทั้งหมดให้ต่างประเทศไปแล้ว..”

ผมเอง(ผู้เขียน)ก็อดสงสัยไม่ได้ทำไมหนังใหญ่ต้องประสบชะตากรรมหรืออาภรรพ์? ไฟไหม้ ไม่งั้นก็ถูกขายทอดต่างประเทศ
หนังใหญ่หนุมาน ว่ายน้ำกลับวัด

“เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น เมื่อตอนที่คณะหนังใหญ่วัดวัดราษฎร์บูรณะฯ เขากลับจากงานแสดงงานหนึ่ง แล้ว
มีหนังตัวหนุมาน ทหารเอกพระรามเกิดพลัดตกน้ำ ในแม่น้ำแม่กลองนี่แหละ งมหาอย่างไรก็ไม่เจอ แต่พอมาถึงวัดฯ หลวงพ่อเจ้าอาวาสบอกว่าหนังใหญ่หนุมานว่ายมาถึงวัดก่อนแล้ว ..สร้างความประหลาดใจให้กับชาวคณะหนังใหญ่ และเป็นเรื่องล่ำลือถึงปาฏิหารย์สืบต่อกันมา”

...วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี ผมก็ไป ได้รู้จักกับเพื่อนต่างวัย ครูวีระ มีเหมือน ศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านหนังใหญ่ และมหรสพไทย เขาอายุอ่อนกว่าเยอะ โน่นเจอกันครั้งแรกตอนประกวด(ต้น)โกศล ตั้งแต่ก่อนที่ผมจะปลดเกษียน คุยกันไปมาก็เลยรู้ว่าชอบพอเรื่องหนังใหญ่เหมือนกัน เขาไปสอนอยู่ที่วัดสว่างอารมณ์

..บ้านพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ของเขา ที่สามโก้ จังหวัดอ่างทอง ผมก็เคยไปติดอยู่ว่าเข้าไปกลางทุ่งนาลึกจังเลย เขาเองก็เอาแบบลายบางชิ้นที่ผมเขียนไปสร้างตัวหนังใหญ่เก็บไว้ที่นั่น” ครูสงัดจะเน้นให้ความสนใจกับงานช่างสร้างตัวหนังใหญ่เป็นพิเศษ เพราะครูไม่ใช่ศิลปินนักดนตรีหรือนักเชิดหนัง แต่เป็นครูช่าง

ถ้าย้อนชีวิตกับไปหลังจากที่ท่านเรียนจบชั้นประถมที่โรงเรียนวัดบางน้อยใน และเรียนมัธยมที่โรงเรียนสายธรรมจันทร์ จังหวัดราชบุรี ก็ได้ไปเรียนต่อทีโรงเรียนเพาะช่าง (วิทยาลัยเพาะช่างในปัจจุบัน) จนจบวุฒิประโยคครูประถมการช่าง สาขาวิจิตรศิลป์ และวุฒิประโยคครูมัธยมการช่าง สาขาประติมากรรม

กลับบ้านมารับราชการในตำแหน่งครูจัตวา ประจำกรมวิสามัญศึกษา พ.ศ.2496 ไปเป็นครูตรีโรงเรียนสกลวิสุทธิ์ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม พ.ศ 2515 ได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์ 2 ระดับ 6 โรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม จนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ 2531

ครูช่างคนนี้ได้สร้างผลงานไว้อย่างมากมาย ที่โดดเด่นคุ้นตากันดี คือ ออกแบบและปั้นรูปเหมือนรัชกาลที่ 5 หรือพระบรมรูปทรงม้า ณ บริเวณ หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม และออกแบบปั้นหุ่นแฝดสยามอิน-จัน ฝาแฝดที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม

นอกนั้นยังมีงานออกแบบและปั้น พระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ที่ค่ายบางกุ้ง, รูปเหมือนเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ วัดบางแคใหญ่, ปราสาทจัตุรมุขหน้าวัดภุมรินทร์กุฎีทอง, อนุสาวรีย์หลวงปู่เหมือน และพระครูสมุทรสุธี วัดกลางเหนือ, พระรูปเหมือน หลวงปู่เอี่ยมวัดปากลัด, ปราสาทจัตุรมุข สำหรับประดิษฐานพระบรมรูปท่านเจ้าคุณ พระราชสมุทรเมธี อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติการาม, พระรูปเหมือนหลวงปู่หอม วัดเหมืองใหม่, ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างลายอุโบสถวัดบางน้อยและศาลาวิหารหลวงพ่ออยู่, ซุ้มทรงไทยจตุรมุข ทางเข้าวัดบางน้อยใน, ซ่อมพระพุทธรูปศิลาแลง จำนวน 5 องค์ ที่ถูกทำลายเสียหายให้อยู่ในสภาพเดิม โดยใช้ปูนตำแบบโบราณ, ปั้นรูปพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อไปประดิษฐานที่จังหวัดตราด เป็นต้น

แล้วครูช่างผู้มีฝีมือในงานปั้นชั้นเยี่ยมยอดอย่างครูสงัด ใจพรหม ทำไมถึงได้มาสนใจงานหนังใหญ่ ?

“หลังจากเรียนเพาะช่าง พบว่าตนเองทำงานทางด้านศิลปะได้ดี โดยเฉพาะลายไทย เพื่อนเห็นก็เอามาให้เขียนให้แก้ มีคนเอามาให้ออกแบบ ปั้นลายบ้าง ก็ทำตั้งแต่นั้นมา แต่หนังใหญ่นี่เป็นเรื่องที่ชอบฝังใจผูกพันธ์กันมาตั้งแต่เด็ก และคิดว่ามันน่าจะเป็นตัวเรามากที่สุด...เลยอยากกลับมาฟื้นชีวิตให้ตัวหนังบางน้อยบ้านผมอีกครั้ง...”
แบ่งอายุหนังใหญ่ตามลวดลายและรอยตอกตุ๊ดตู่

“ผมแบ่งยุคสมัยหนังตามฝีมือครูช่างหนังใหญ่สมัยรัตนโกสินทร์ 3 รุ่นด้วยกันคือ รุ่นแรก พระพรหมวิจิตร ช่วงราวสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งจะมีลวดลายวิจิตรละเอียด ใช้ตุ๊ดตู่ตอกรูไล่เล็กใหญ่ลดหลั่นหลายขนาด, รุ่นสอง พระเทวาภินิมมิต(ฉาย เทียมศิลป์ชัย : พ.ศ.2431-2485) เป็นศิลปินเอกท่านหนึ่งของไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕-๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จะตอกลายตุ๊ดตู่สองชั้น และรุ่นสาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ (พ.ศ.2406-2490) ใช้ตุ๊ดตู่ตัวเดียวตอกเกือบทั้งตัว...
..หนังใหญ่วัดบางน้อย น่าจะเป็นผลงานของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์

ผมพยายามตามหาหนังใหญ่ที่เยอรมัน ติดต่อผ่านไปยังสถานทูตพบว่ามีอยู่จริงประมาณ 300 ตัว ในพิพิธภัณฑ์ประเทศของเขา เจตนาคืออยากขอถ่ายรูป เพื่อจะมาเทียบกับชุดแรกที่โดนไฟไหม้ (วัดบางน้อย? หรือ ที่โรงละครแห่งชาติ ชุดหนังใหญ่ “พระนครไหว”?) แล้วนำมาวาดลาย แกะตัวหนังใหม่เท่านั้นเอง ไม่ได้ไปคิดทวงคืนอะไร แต่เขาไม่อนุญาตให้ไปถ่ายรูป?...ครูสงัดจึงใช้วิธีรวบรวมรวมภาพหนังใหญ่ตามหนังสือหรือโปสการ์ดเก่าๆ

“...จากนั้นมาก็รวบรวมภาพไว้ตั้งแต่ยังไม่ปลดเกษียณ คิดว่าจะอนุรักษ์หนังใหญ่ ทำยังไงดี? มีความคิดที่จะทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ตั้งใจจะเปิด “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น” ขึ้นที่ข้างบ้านผมนี่แหละ เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนให้นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวได้มาดู มาศึกษาหนังใหญ่ แบบไม่ทิ้งรูปแบบดั้งเดิม โดยผมปรึกษาหารือกับลูกศิษย์ลูกหาทุกรุ่นที่เคยสอนเขามาให้ทอดผ้าป่าการศึกษา แล้วจากนั้นให้พวกเขาเป็นผู้จัดการดูแล ถึงถ้าผมไม่อยู่เขาก็สามารถช่วยกันสืบสานดำเนินการต่อได้”
ไม่นานเกินรอนักท่องเที่ยวและผู้สนใจก็จะสามารถเดินทางไปพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ ของครูช่างหนังใหญ่ “สงัด ใจพรหม”

ทนายผู้คอยความ เร่งตามไต้ส่องเบื้องหลัง
จงเรืองจำรัสทัง ทิศาภาคทุกภาย
จงแจ้งจำหลักภาพ อันยงยิ่งด้วยลวดลาย
ให้เห็นแก่ทั้งหลาย ทวยจะดูจงดูดี”
จากบทพากย์ไหว้ครูหนังในสมุทรโฆษคำฉันท์ (ประมาณ พ.ศ. 2200)

ข้อมูลศิลปิน
อาจารย์สงัด ใจพรหม ปัจจุบันอายุ 83 ปี ( สัมภาษณ์ พ.ศ.2554) อยู่บ้านเลขที่ 31 หมู่ 2 ต.ยายแพง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ภรรยาชื่อ นางบุญเยื่อ ใจพรหม ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ มีบุตรสาว 2 คน

บรรณานุกรม
เสรี มั่นมาก. เปิดกรุนักประติมากรรม เมืองแม่กลองผู้ที่ปิดทองหลังพระ ตลอดกาล. หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม 2550

สัมภาษณ์
สงัด ใจพรหม, ศิลปินดีเด่น สาขาทัศนศิลป์ จังหวัดสมุทรสงคราม ประจำปี 2542. สัมภาษณ์, 27 มิถุนายน 2554
ครูช่างหนังใหญ่บางน้อย โดยคมสันต์ สุทนต์

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

ตามหาหุ่นกระบอกอัมพวา ที่วัดบางเกาะเทพศักดิ์ โดยคมสันต์ สุทนต์

โดยคมสันต์ สุทนต์
“ถ้าอยากรู้เรื่องหุ่นกระบอกอัมพวา ต้องไปตั้งต้นที่วัดบางเกาะเทพศักดิ์ ตำบลแควน้อย..” นี่คือข้อมูลเริ่มต้นของการค้นหาหุ่นกระบอก เมืองอัมพวา ผมเคยอ่านข่าวผ่านตาว่าวัดนี้เคยจัดงาน "ถนนคนเดิน อนุรักษ์วัฒนธรรม วัดบางเกาะเทพศักดิ์" มีสาธิตการทำขนมไทยชมหนังกลางแปลงโบราณ ชมดนตรีไทย และการเชิดหุ่นกระบอกด้วย

ย้อนไปซักสองร้อยกว่าปี ตามประวัติศาสตร์ที่แห่งนี้ เคยเป็นสนามรบสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เคยยกทัพมายืดค่ายบางกุ้งคืนจากพม่า บริเวณวัดบางเกาะเทพศักดิ์จะติดต่อกับค่ายบางกุ้ง มีเพียงคลองแควอ้อมคั่นกลาง และคลองแควอ้อมยังสามารถเดินทางเรือหรือทางน้ำไปจังหวัดราชบุรี หรืออำเภอปากท่อได้ในสมัยก่อน เคยเป็นคลองลัดที่จะไปจังหวัดราชบุรีและตลาดนัดปากท่อ เพื่อหนีน้ำเชี่ยวหรือน้ำหลากในเวลาน้ำเหนือลง น้ำในแม่น้ำแม่กลองจะไหลเชี่ยวจัด บรรดาพ่อค้าแม่ค้า จึงหลบหนีกระแสน้ำไปทางคลองแควอ้อม ไม่ใช่แค่เรื่องการคมนาคมหรือการค้าขายอย่างเดียว แม้แต่เรื่องดนตรีก็ทำให้นักดนตรีหลายสำนักได้ไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนความรู้กัน อาทิ สำนักครูรวม พรหมบุรี แห่งเมืองราชบุรี กับ สำนักครูรวม แก้วอ่อนแห่งอัมพวา เป็นต้น

เชิดผีเสื้อสมุทร ต้องนึกถึง ครูวงษ์ รวมสุข
ครูวงษ์ รวมสุข เกิดวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2451 ที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรคนที่ 6 ของนายสว่าง นางสมบูรณ์ รวมสุข ในจำนวน 13 คน ซึ่งเป็นหญิง 7 คน ชาย 6 คน ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2537 อายุ 86 ปี ท่านเรียนหนังสือกับบิดา และไปเรียนที่วัดบางเกาะเทพศักดิ์อินทรประชาคม ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2475

ครูวงษ์ รวมสุข เป็นศิษย์เอกของแม่ครูเคลือบเดิมทีได้เรียนวิชาเชิดหุ่นกับ แม่ครูสาหร่าย ช่วยสมบูรณ์ ที่จังหวัดสมุทรสงครามเมื่ออายุได้ ๑๒ ปี เมื่อเชิดได้ดี แม่ครูสาหร่ายจึงส่งไปฝึกกับแม่ครูเคลือบ ที่บ้านเจ้าคุณชำนาญอักษรในกรุงเทพฯ นายวงษ์มีความสามารถ ในการเชิดหุ่นมาก คราวใดที่เชิดเป็นตัวผีเสื้อสมุทร จะวาดลวดลายเต็มที่ เรียกเสียงฮาเป็นที่สนุกสนาน ชื่นชอบใจของผู้ชมมาก เด็กๆ มักเรียกกันว่า “หุ่นลุงวงษ์”หรือ”หุ่นตาวงษ์” หุ่นกระบอกคณะชูเชิดชำนาญศิลป์เป็นคณะที่มีชื่อเสียงมาก เคยมีผู้ติดต่อไปแสดงในวังและได้แสดงถวายหน้า พระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และเคยแสดง ถวายหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ หลายครั้ง

นอกจากความสามารถในการเชิดหุ่นแล้วท่านยังเป็นผู้ที่มีความสามารถ ในการแต่งการบทประพันธ์อีกด้วยได้แต่งบทประพันธ์ หลายเรื่องเพื่อใช้ในการแสดงหุ่น เช่น เรื่องมงกุฏเพชร มงกุฏแก้ว ศรีสุริยง ระกาแก้ว กุมารกายสิทธิ์ และคนโททอง “เรื่องที่หุ่นกระบอกรุ่นลูกหลานยังพอจำเนื้อเรื่องย่อได้คือ ระกาแก้ว การดำเนินเรื่องคล้ายสังข์ทอง แต่เปลี่ยนให้พระเอกเกิดมาเป็นไก่... ทุกเรื่องครูวงษ์จะจดไว้ในสมุด เขียนเรื่องแบบหน้าเว้นหน้าสลับกัน เพื่อไม่ให้เป็นที่หมายตาใคร เพราะอ่านแล้วจะไม่ได้ใจความต่อเนื่อง แต่น่าเสียดายที่มีนิสิตของสถาบันแห่งหนึ่ง ยืมไปทำวิทยานิพนธ์แล้วไม่คืน พยายามตาหาก็ไม่เจอ” (สัมภาษณ์ : กรรณิการ์ แก้วอ่อน, 29 มิถุนายน 2554)

ทำให้ผมเองอดเสียดายไม่ได้ เพราะอยากรู้ว่าอีกสี่เรื่องที่ครูวงษ์แต่งนั้นมีเนื้อหาสนุกสนานขนาดไหน ใครทราบ? รู้ตัวว่าได้หยิบคลังปัญญาศิลปินอัมพวาไปโปรดส่งคืนต้นฉบับ หรือถ่ายเอกสารส่งกลับก็ยังดี

ครูวงษ์ รวมสุข ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติยศ “ ศิลปินพื้นบ้านดีเด่นและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ( สาขาหุ่นกระบอก )” ประจำภาคกลางจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม ปี พ.ศ.2529 และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2537 ก่อน ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราในวัย 86 ปี เมื่อวันที่ 12 กันยายน ปีเดียวกัน
ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2540 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชทานเพลิงศพ ครูวงษ์ รวมสุข ณ เมรุ วัดบางเกาะเทพศักดิ์





ยุววิจัยประวัติศาสตร์ ฟื้นชีวิต “หุ่นกระบอกอัมพวา”
เมื่อต้องเขียนเรื่องหุ่นกระบอกอัมพวา ทำให้ผมนึกถึงบทสัมภาษณ์ที่สุดประทับใจของ ชัยยงศ์ สมประสงค์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (พ.ศ. 2552) จากโรงเรียนถาวรานุกูล จังหวัดสมุทรสงคราม ที่เขาส่งบทความข่าวฝากไว้ในกระทู้เวปไซด์ของผม (khomsun.com) ซึ่งตอกย้ำให้ผมมั่นใจว่า คนที่จะจริงใจเอาใจใส่ดูแลศิลปะการแสดงพื้นถิ่นไว้ใด้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นอกจากลูกหลานของคนชุมชนนั้นนั่นเอง

“ชัยยงศ์ ..เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่าเขาและเพื่อนๆ 5 คนได้ใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนให้เกิดประโยชน์ด้วยการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับหุ่นกระบอก จากความสนใจที่เห็นหุ่นกระบอกถูกเก็บอยู่ในตู้โชว์ กอปรกับความสนใจส่วนตัวในศิลปะไทยแขนงต่างๆ ทั้งยังต้องการทราบความเป็นมาของจังหวัดสมุทรสงครามซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งศิลปิน และ “หุ่นกระบอก” มหรสพที่เคยรุ่งเรืองในอดีต

“ หุ่นกระบอกในเมืองแม่กลองเป็นสายเดียวกับหม่อมราชวงศ์เถาะ ที่มีแม่ครูเคลือบผู้หญิงเก่งในยุคนั้นเป็นผู้ฝึกสอน แม่ครูเคลือบเปรียบเป็นดาราซึ่งมีชื่อเสียงมาก เพราะมีคนว่าจ้างให้ไปเชิดหุ่นอยู่เสมอจนกระทั่งได้ไปอยู่กับพระองค์เจ้าสุทัศน์นิภาธร

ครั้งหนึ่งหุ่นกระบอกคณะของพระองค์เจ้าสุทัศน์ฯได้มาแสดงในงานศพที่วัดเพชรสมุทรวรมหาวิหาร จังหวัดสมุทรสงคราม และที่งานนี้เองที่ทำให้คนสมุทรสงครามได้มีโอกาสชื่นชมการแสดงหุ่นกระบอกเป็นครั้งแรก และด้วยอุปนิสัยของแม่ครูเคลือบที่ใจดีและเป็นคนช่างคุย ไม่หวงวิชา ทำให้แม่สาหร่ายกับนายพลอย ช่วยสมบูรณ์ สองสามีภรรยาชาวแม่กลองได้มีโอกาสเรียนรู้การละเล่นหุ่นกระบอกกับแม่ครูเคลือบ จนสามารถตั้งคณะหุ่นกระบอกขึ้นในจังหวัดสมุทรสงคราม และขณะที่แม่ครูเคลือบสอนการเล่นหุ่นกระบอกยังมี นายวงษ์ เด็กหนุ่มช่างพูดคอยไปด้อมๆมองๆด้วยความอยากรู้อยากเห็น แม่ครูเคลือบ นายพลอยและแม่สาหร่าย เห็นแววจึงสอนนายวงศ์ให้หัดเชิดหุ่นกระบอก และส่งไปเรียนการเชิดหุ่นกระบอกกับเจ้านายที่กรุงเทพฯ”

วันนี้แม้คณะหุ่นกระบอกของนายพลอยและแม่สาหร่าย ช่วยสมบูรณ์ จะไม่หลงเหลืออยู่แล้ว เนื่องจากคุณยายสาหร่ายไม่มีลูกหลานสืบทอดโดยตรง แต่หุ่นกระบอกของนายวงศ์ซึ่งเป็นศิษย์เก่าก็ยังคงอยู่ พร้อมถ่ายทอดการแสดงหุ่นกระบอกให้คนแม่กลองได้ดูโดยใช้ชื่อว่า คณะชูเชิดชำนาญศิลป์ และขณะนี้แม้นายวงศ์หรือครูวงศ์จะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีอาจารย์กรรณิกา แก้วอ่อน ญาติของครูวงศ์ที่ยังคงสืบทอดคณะหุ่นกระบอกชูเชิดชำนาญศิลป์มาถึงทุกวันนี้

ชัยยงค์ เล่าว่า หุ่นกระบอกแม่กลองโบราณแท้ๆ หน้าหุ่นจะแกะสลักด้วยไม้เนื้ออ่อน เช่นไม้ทองหลาง ซึ่งในอดีตมีศิลปินแม่กลองซึ่งเป็นผู้หญิงท่านหนึ่ง ชื่อแม่จีบ เนติพัฒน์ สามารถใช้มีดเจียนหมากแกะหน้าหุ่นเป็นหน้ามนุษย์ได้ โดยจะแกะสลักจากการพบเห็นผู้คนรอบๆ ตัว หรือหากวันไหนนึกครึ้มใจก็แกะสลักรูปหน้าตัวเองด้วยการส่องกระจกและเอามือคลำรูปหน้าและค่อยๆแกะสลักไป จนได้หุ่นกระบอกที่หน้าเหมือนตัวท่านเอง จุดเด่นของหุ่นกระบอกแม่กลองจึงเป็นหุ่นที่มีลักษณะเหมือนหน้าคนธรรมดา ขณะที่หุ่นกระบอกกรุงเทพฯหรือหุ่นในวังหลวงจะมีหน้าตาเหมือนเทพหรือเทวดา
สำหรับวรรคดีที่นิยมใช้เล่นหุ่นกระบอกก็คือ พระอภัยมณี เนื่องจากเนื้อเรื่องกระชับรวดเร็ว ไม่ยืดยาด ซึ่งลักษณะการดำเนินเรื่องของหุ่นกระบอกจะได้รับอิทธิพลมาจากการแสดงหุ่นละครนอกที่ไม่มีบทร่ายรำกรีดกรายเหมือนละครใน
เมื่อหมุนเข็มนาฬิกามาถึงปัจจุบัน ชัยยงศ์ บอกว่า จะหาชมการแสดงหุ่นกระบอกของชาวสมุทรสงครามได้ยากแล้ว เนื่องจากมีคณะหุ่นกระบอกเหลือเพียงไม่กี่คณะ และจะแสดงเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญๆ เช่น งานประจำปีเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ .....”
ข้อมูลเดิมจาก : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2552



ครูกรรณิกา แก้วอ่อน ผู้สืบสานหุ่น “ชูเชิดชำนาญศิลป์”
ลัดเลาะถนนผลไม้จากวัดบางเกาะเทพศักดิ์ย้อนกลับมาที่วัดปากน้ำ อัมพวา จอดรถไว้ด้านข้างวิหารพระพุทธไสยาสน์ศักดิ์สิทธิ์ สร้างเมื่อ ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2452) เพื่อมาพบปะพูดคุยกับครูกรรณิการ์ แก้วอ่อน หรือครูหมูใจดีของเด็กๆ ที่ห้องเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดปากน้ำ ผู้สืบทอดมรดกหุ่นกระบอกคณะชูเชิดชำนาญศิลป์ รุ่น 3 นับจากครูวงษ์ รวมสุข, แม่ครูอาบ แก้วอ่อน และครูกรรณิการ์ แก้วอ่อน

“เริ่มแรกก็เป็นเพียงลูกมือ ช่วยหยิบโน่นส่งนี่ให้ ลุง(ครูวงษ์),ให้แม่(แม่ครูอาบ) ตอนแรกก็ยังไม่คิดจะจริงจังอะไรประกอบกับพอลุงวงษ์เสียเมื่อปี พ.ศ.2537 ถัดมาอีก 2 ปีสามีก็มาเสียอีกในปี พ.ศ. 2539 พอมาถึงปี พ.ศ.2543 แม่(แม่ครู)อาบ แก้วอ่อน ก็มาจากไปอีก..เสียใจ หมดกำลังใจไปเยอะ กว่าจะตั้งต้นจริงจังด้วยตัวเองก็มาเอาตอน พ.ศ.2547...”
ครูกรรณิการ์เปิดฉากเล่ามรสุมชีวิตอันหนักหน่วงที่แทบจะตัดใจเลิกลาเชิดหุ่นกระบอก แต่คงมีครูบาอาจารย์ช่วยดลใจให้กลับมาสานต่อลมหายใจหุ่นในตู้กระจกอีกครั้ง

“หุ่นที่บ้านเป็นหุ่นแบบโบราณ คุณยายจีบ เนติพัฒน์ เป็นคนทำตัวหุ่นให้คณะ ...แปลกนะอายุเกือบร้อยปี แต่สภาพตัวหุ่นยังสมบูรณ์มาก อยากจะทำหุ่นชุดใหม่สร้างแบบเดิมเหมือนยายจีบ พี่อยากสร้างด้วยมือพี่เอง...ตัวเก่าๆเขาจะได้พักผ่อนบ้าง ” ครูกรรณิการ์พูดเหมือนหุ่นมีชีวิตและเป็นเสมือนคนในครอบครัว

“พี่ว่าทั่วประเทศมีหุ่นกระบอกไม่น่าเกิน 10 คณะ ช่วงเวลาที่นิยมมากสุดอยู่ในช่วง ปี พ.ศ. 2548 – 2549 งานชุกไม่ได้หยุดไม่ได้หย่อน สมัยก่อนหุ่นกระบอกใช้นั่งเชิด ถ้าเหตุการณ์ไม่เอื้ออำนวยก็สามารถยืนเชิดได้เหมือนหนังใหญ่ ต้องมีม่านหรือมู่ลี่มาบัง แต่วิธีการเชิดจะเหมือนเดิม ...วันนี้มีหุ่นแสดงแบบประยุกต์ร่วมสมัยหลายรูปแบบ พี่ว่าก็ดีนะ เพราะถือว่าได้แตกแขนงออกไป คนดูจะได้ไม่เบื่อด้วย”

เมื่อถามถึงการสืบทอดหุ่นกระบอกอัมพวา ให้คนรุ่นใหม่ ครูกรรณิการ์ตอบว่า “มีนิสิตนักศึกษามาขอความรู้ตลอดเวลา แต่ก็เพื่อทำวิทยานิพนธ์ไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งจริงจัง เพราะแค่ท่ากล่อมหุ่นจะทำให้ดี ต้องฝึกเป็นเดือนๆถึงจะชำนาญ ส่วนรุ่นเด็กๆ นี่จะเริ่มสอนนักเรียนที่โรงเรียนวัดปากน้ำให้เชิดหุ่นประบอกทุกคนตั้งแต่ป.4 พี่เคยลองชั้น ป.2-3 ทักษะการหยิบจับของเด็กเขาจะยังไม่พร้อม”

“ส่วนลูกพี่...พี่มีลูกชายคนเดียว ก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะเอาทางหุ่นหรือเปล่า เขาจะสนใจทางดนตรีไทยมากกว่า คงคุ้นหน้าเขาบ้าง กรรธวัช แก้วอ่อน ที่เป็นแชมป์ระนาดเอกรายการคุณพระช่วยอยู่ 7 สมัย เขาชอบทางดนตรีติดไปทางพ่อเขา ลุงเขา(ครูณรงค์ รวมบรรเลง อดีตหัวหน้าวงดนตรีไทย กรมประชาสัมพันธ์) ปู่เขา (ครูรวม แก้วอ่อน สำนักดนตรีชื่อดังลุ่มน้ำแควอ้อมอัมพวา) เรานี่เห็นเป็นลูกชายก็พยายามจะให้เขาเรียนไปทางทหารโน่น.. แต่เขามุ่งมั่นเรื่องดนตรีมาตั้งแต่เด็กจริงๆ เขาเลยได้ดีทางดนตรี”
แล้วใครจะสืบสาน หุ่นกระบอกอัมพวา ?

“ก็มีครูอภิชาติ อินทรยงค์ คนนี้เขาเป็นรุ่นน้อง เป็นลูกศิษย์ได้ความรู้มาจากลุงวงษ์ รวมสุขมาเยอะมาก เขาจะมาช่วยสอนที่โรงเรียนปากน้ำและสอนพิเศษหลายแห่งอย่างที่ โรงเรียนอัมพวันวิทยาลัยเขาก็สอน

ส่วนลูกศิษย์พี่เลยที่โตๆแล้วแต่ก็มาช่วยงานกันไม่ได้ขาดก็มี สมเกียรติ์ เวชการ เรียนอยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ฐิตินันท์ ผุลละศิริ เรียนอยู่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรุงเทพฯ, ขวัญนภา จุลเจิมศักดิ์ เรียนที่ มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรีฯ

ครูอภิชาติ อินทรวงค์ศิษย์ก้นกุฏิครูวงษ์ รวมสุข
“วิธีการเชิดหุ่นของอัมพวาจะแตกต่างจากที่อื่นหลายอย่าง เช่นการกระทบตัว ส่วนทางร้องเพลงหุ่นขึ้นลงก็ต่างจากที่อื่น ..มีครูณรงค์ รวมบรรเลงนี่หละ ที่น่าจะยังรักษาทางร้องหุ่นแบบอัมพวาไว้ได้ ทางซอ(อู้)ก็ไม่เหมือนกันอย่างกรุงเทพฯ เขาสีแบบคลอร้อง สีเหมือนทำนองร้อง แต่ลุงวงษ์ (รวมสุข) นี่ท่านจะสีแบบเคล้า ทำนองจะหยอกล้อพันกัน ผมเองจำท่วงทำนองได้ใจมันไหว แต่มือมันไม่ค่อยไปแล้ว”

แม้จะเป็นบทสนทนาแทรกสั้นๆ ที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับครูอภิชาติ อินทรยงค์ แต่ก็ทำมีความรู้สึกว่า ซักวันหนึ่งต้องกลับไปฟังทางร้อง ทางซอหุ่นกระบอกอัมพวาให้ได้

“สมัยก่อนผมไปเรียนไปเล่นปี่พาทย์วงครูรวม อ่อนแก้ว ที่ปากน้ำ อัมพวาพร้อมกับเรียนหุ่นกระบอกกับครูวงษ์ รวมสุข ...เท่าที่จำได้สมัยนั้นคนเชิดหุ่นก็จะมี ครูวงษ์ รวมสุข, ป้าชิต รอดภัย, ลุงเพิ่ม(ไม่ทราบนามสกุล), คุณถวิล พัฒโน, คนบทก็คุณประมูล เนติพัฒน์ น้องชายของคุณยายจีบ เนติพัฒน์คนสร้างหุ่น...”


โครงการหลังปลดเกษียน “โรงหุ่นกระบอกที่วัดบางเกาะเทพศักดิ์”
“พี่ปรึกษาหลวงพ่อวัดบางเกาะฯ ไว้แล้วว่า อีกสองปีหลังจากพี่ปลดเกษียน ขอพื้นที่เล็กๆในวัดไว้สร้างโรงหุ่นกระบอกเอาไว้เล่นให้นักท่องเที่ยวดู ..เอาไว้สอนเด็ก ใครอยากได้ความรู้ก็มาเอา ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือนักท่องเที่ยว ก็ยินดีสอน สาธิตให้...”

ปิดท้ายการสนทนาครูหยิบหุ่นกระบอก แต่งชุดลายดอกแบบชาวบ้านอัมพวาขึ้นมาสาธิตท่ากล่อมตัว มีกล่อมนอก กล่อมใน กระทบตัว และที่สุดยอดคือท่าตีลังกา เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของลุง(วงษ์)

ครูเล่าแทรกว่ามีรุ่นพี่ในคณะอยู่คนหนึ่งเชิดผีเสื้อสมุทรนี่แหละแล้วหัวเกิดหลุด ในวงการหุ่นนี่ถือว่าร้ายแรง(ไม่เป็นมงคล) หลังจากนั้นเป็นกรณีสำคัญที่ทำให้หุ่นทุกตัวของคณะฯ ต้องมีน๊อตแบบห่วงหมุนล็อคหัวหุ่นกับกระบอก

“ ...นี่หูหุ่นกับหูคนต้องเท่ากัน ลุงวงษ์ล่ะก็ ย้ำนักย้ำหนาเชียว ...เอ้าเต้นเขนต่อ ต้อมต้อมๆๆ(ไม้กลองกราวใน)......”
แล้วครูก็ค่อยๆ เปิดเสื้อหุ่นให้ดูด้านใน มือซ้ายจับกระบอกไม้ไผ่ มือขวาจับไม้ตะเกียบคู่ ที่กลิ้งกลอกเคลื่อนไหวคล่องแคล่วดั่งเล่นกล
“เปิด(เสื้อผ้าหุ่น)ออกจะเห็นว่ามีอะไรซุกซ่อน มีอะไรให้ค้นหาเรียนรู้อีกตั้งเยอะในตัวหุ่น”
แม้จะไม่ได้คุยกันมากมายทั้งวันกับครูกรรณิการ์ แก้วอ่อน เพราะท่านต้องติดภารกิจสอนเด็กต่อในช่วงบ่าย แต่ก็ทำให้ผมรู้สึกผูกพันธ์กับหุ่นกระบอกอัมพวา และหุ่นทุกชนิดของไทยอย่างจับใจ
โดยคมสันต์ สุทนต์

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ย่าตะลุ่ม สุทนต์ แม่เพลงสามโก้



นางตะลุ่ม สุทนต์ แม่เพลงอัจฉริยะผู้ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาจากระบบโรงเรียน แต่สามารถสร้างศิษย์ให้เป็นศิลปินแห่งชาติได้

นางตะลุ่ม สุทนต์ เป็นบุตรนายปูด และนางผูก ศรีชื่น เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ณ บ้านเลขที่ ๑ หมู่ที่ ๕ ตำบลสามโก้ อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๔ คน เป็นชาย ๑ คน หญิง ๓ คน สมรสกับนายจอน สุทนต์ มีบุตรธิดา ๘ คน เป็นชาย ๕ คน หญิง ๓ คน นางตะลุ่ม สุทนต์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว นางตะลุ่มไม่เคยได้รับการศึกษาในสถานศึกษาแห่งใด เขียนหนังสือไม่ได้ แต่มีไหวพริบปฏิภาณในการด้นกลอนสดและเล่นเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่เด็ก จึงมีความชำนาญเป็นพิเศษ เป็นแม่เพลงพื้นบ้านแสดงในงานต่าง ๆ ด้วยใจรัก โดยไม่คำนึงถึงค่าตอบแทน

ผลงานดีเด่น
จากการที่เป็นแม่เพลงพื้นบ้านและเล่นเพลงพื้นบ้านเป็นอาชีพมาเป็นเวลานาน จึงมีผลงานการแสดงอย่างมากมาย เช่น
การเล่นเพลงพื้นบ้านที่สวนอัมพร และศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กรุงเทพมหานคร และในงานเทศกาลต่าง ๆ ของจังหวัดอ่างทอง และจังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนี้ยังเป็นครูผู้ถ่ายทอดความรู้ในศิลปะเพลงพื้นบ้านต่าง ๆ อาทิเช่น เพลงฉ่อย
เพลงอีแซว เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง เพลงหวดควาย เพลงกล่อมเด็ก ให้แก่เยาวชนและผู้สนใจทั้งในจังหวัดอ่างทอง และจังหวัดสุพรรณบุรี

นางตะลุ่ม สุทนต์ ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘

ข้อมูลประวัติย่าตะลุ่ม สุทนต์ : จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม


เพลงทรงเครื่อง แม่ตะลุ่ม สุทนต์ บ้านสามโก้

บทสัมภาษณ์ย่าตะลุ่ม สุทนต์
ที่บ้านเลขที่ 1 หมู่ 5 ตำบลสามโก้ อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง

ผู้สัมภาษณ์ : อาจารย์(พ่อ)บุญสม สุทนต์,
คมสันต์วรรณวัฒน์ สุทนต์,
น้องโอ้ต-สุทธิชัย จันทมูล

สัมภาษณ์ช่วงเวลาประมาณ พ.ศ. 2536-2537
โดยคมสันต์วรรณวัฒน์ สุทนต์
***หากต้องการนำข้อมูลนี้ หรือบางส่วนไปเผยแพร่อ้างอิง ปรับเปลี่ยนแปลง ในผลงานสื่อรูปแบบใดก็ตาม
กรุณาขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียนเท่านั้น - ขอสงวนสิทธิ์ทั้งหมด พ.ศ. 2554


ที่นำมาถอดความนี้ จะเน้นเรื่องเพลงทรงเครื่องเป็นพิเศษจะเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้สนใจเพลงพื้นบ้านภาคกลาง ซึ่งจะเข้าใจโครงสร้างการผูกเพลงต่างๆ อย่างชาญฉลาดของพ่อเพลงแม่เพลงรุ่นปู่ย่า

โดยเฉพาะในแบบฉบับของย่าตะลุ่ม สุทนต์ เป็นเพลงทรงเครื่องอีกรูปแบบหนึ่งที่เน้นแสดงในการแก้สินบน หรืองานแก้บน ไม่ใช่เพลงทรงเครื่องอย่างเดียวที่ไว้ร้องเล่นแก้บน ยังมีศิลปะการแสดงภาคกลางของไทยอีกหลายอย่างที่เล่นแก้บน ไม่ว่าจะเป็นละครชาตรีหรือละครเมืองเพชร, เท่งตุ๊ก แถบ จันทบุรี ตราด ภาคตะวันออก จะเห็นได้ตามศาลหลักเมือง หรือวัดใหญ่ๆ

อย่างภาคใต้ก็มีโนราโรงครู ที่มีวัตถุประสงค์ในการแสดงข้อหนึ่งก็คือการแก้บนเช่นกัน ศิลปะการแสดง วิถีชีวิต พิธีกรรม ความบันเทิง สี่องค์ประกอบเหล่านี้มักเกี่ยวดองกันเสมอในอดีต แต่ในปัจจุบัน พิธีกรรมหดหาย เพราะเราเชื่อในหลักเหตุผล พิธีกรรมกลายเป็นเรื่องงมงาย แต่เราไม่เชื่อใจ เรากำลังตัดจิตใจออกจากวิถีชีวิต ไม่ต่างอะไรกับคำว่า โชว์ [SHOW] เพราะพิธีกรรมเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นจริงในวิถีชีวิต จัดฉากไม่ได้ จะเห็นได้ว่าเพลงทรงเครื่องในอดีตเป็นเรื่องของความสมบูรณ์แบบครบถ้วนในศาสตร์และศิลป์ เล่าเป็นเรื่องราว มีวงปี่พาทย์รับร้อง มีตีบทร่ายรำ เครื่องแต่งกายแพรวพราวไม่แพ้มหรสพจำพวก ลิเก ละครอื่นๆ

เพลงทรงเครื่องเทียบเคียงได้กับศิลปะการแสดงไทยอื่นๆ ที่มักใช้คำว่า ทรงเครื่องต่อท้าย อาทิ ลิเกทรงเครื่อง เสภาทรงเครื่อง
เป็นต้น

หากเทียบกับศิลปะสากล ก็เหมือนกับคำว่า “คลาสสิค” ยุคทองหรือช่วงเวลาที่ศิลปะแขนงนั้นเติบโตจนเต็มอิ่ม สมบูรณ์แบบ

สิ่งสำคัญที่คนรุ่นใหม่มักค้นหา แสวงหาและอยากเป็นผู้สร้างสรรค์ก็คือ ศิลปะการแสดงร่วมสมัย แต่บางครั้งมักหยิบมาอย่างฉาบฉวย
คงได้แต่รากฝอยกำน้อยๆ แต่หาได้รากแก้วไม่

ทั้งที่รากแก้วอยู่ไม่ไกลมือ
บ้างก็อยู่ในบ้าน
ในท้องถิ่นบ้างเป็นรากโพธิ์ในวัด บ้างเป็นรากไทรในป่า
เพียงแต่เราตั้งใจจริงที่จะแสวงหากันหรือเปล่า?

หากบทความ “เพลงทรงเครื่อง” นี้แตกดอกออกช่อต่อปัญญาแก่ผู้ใด
ขอจงช่วยน้อมจิตอุทิศบุญกุศลส่งไปยังย่าตะลุ่ม สุทนต์ และพ่อเพลงแม่เพลงที่ล่วงลับไปแล้ว
ให้ท่านทั้งหลายจงมีความสุข ชั่วกาลนานเทอญ


เอาล่ะ..ขอให้ผู้อ่านทุกท่าน มีความสุข สนุกสนาน สำราญใจ เสมือนได้นั่งพื้นกระดานกลางบ้าน
ได้พูดคุยกับย่าตะลุ่ม สุทนต์ อย่างเป็นกันเอง

บอกไว้ก่อนนะว่าย่ามีความเป็นอัจฉริยะจริงๆ ในการโต้ตอบฉลาด ฉาดฉานในการเล่าเรื่อง สนุกสนาน ฉับไว เร้าใจ
และมีความจำที่ดีเยี่ยมครับ



ย่าตะลุ่ม สุทนต์
“ไหว้ครูก็ชั้นต้นเลย ..พอโหมโรง ลงวาจบ ก็ไหว้ครู

คมสันต์/น้องโอ้ต
“ย่าลองว่าให้ฟังได้ไหมครับ?”

ย่าตะลุ่ม สุทนต์
“เพลงไหว้ครูน่ะเหรอะ..ถ้าเพลงวง เมื่อแต่แรกก็จะว่า

ยกพานกำนน เอ้ย... สาธุสะสิบนิ้ว
จะประนม จะกรก้ม(กอ-รา-ก้ม)
ขึ้นไปเหนือเกศ ลูกจะไหว้เทวัญ ชั้นเทเวศน์
ทั้งเทพประไทยในไพรวัลย์
ลูกจะไหว้ลายลักษณ์อักษร
ขอให้มาปกกร ป้องกัน ..กาย

นี่แหละเพลงวง แต่แรกเพลงวงใหญ่”

คมสันต์/น้องโอ้ต
“เพลงวงก็เป็นต้นทาง เพลงทรงเครื่อง”

ย่าตะลุ่ม สุทนต์

“ทีนี้พอเขาไหว้เสร็จเขาก็จะแก้สินบน ว่าเชิญเจ้า ว่าไปอีกเยอะ...

เขาได้บนบาน เชียวนะ..ศาลกล่าว
ไม่รู้เลยว่าเจ้า ศาลไหน
จะเป็นเจ๊บไข้ ได้โรคา
เจ้าพ่อมารักษา เขาไว้ให้หาย
หรือจะเป็นงัวหาย ควายพลัด
เจ้าพ่อสังกัดเอามาได้

หาลูกมาแก้บน เขาตั้งใจจะให้พ้นความภัย..ความภัย
หมูไก่เขาก็มี บายศรีก็ตั้ง เชิญเจ้าพ่อมานั่งบนศาลใหญ่

เหล้าไหเชียวนะไก่ตัว เขาบนกันมาจนทั่ว ตลอดไป
ขอให้มาเสวย เครื่องเขาตั้งไว้ เสียบนศาลชั้นใหญ่
ขอเชิญมาเสวย เจ้าพ่อที่เคย ลูกช้างมาถวาย ขาดกัน
ซะวันนี้เอย แล้วโพยภัยจะให้มี ติดกาย

ขอให้เขาอยู่เย็น เชียวนะเป็นสุข
เขานี้จะให้มีทุกข์ ไม่ให้มีภัย ให้สุขสวัสดิ์
เชียวนะขาดกัน ไปเสียตั้งแต่วันเอย...นี้ไป
ฉาดชา เอ่อเออ..เฮ้อเออ เอิงเอย

วันหลัง เชียวนะวันหน้า อย่าให้เป็นโรคาเจ็บไข้

คมสันต์
“แล้วลูกคู่เขารับว่าอย่างไรครับ”

ย่าตะลุ่ม สุทนต์

เออเอิงเออเอย..
อยู่ดีเชียวนะมีสุข ขอจะให้มีทุกข์ต่อไป
ขอจะให้มีทุกข์ต่อไปเอย เอิงเงย...

ย่าตะลุ่ม สุทนต์
ทีนี้พอจบพวกพิณพาทย์เขาก็รับ โอ้ร่าย
เมื่อแรก แล้วก็ร้อง

จบส่งลงวา เอ่อเออเอ้อเอย ครบสาธุการ
เสียงกลองระนาด เอ้อเอย ฉาดฉาน
การมงคลเอย

ปี่พาทย์รับเสร็จ พวกผู้ชายลูกขึ้นมาว่าก่อน

เอิงเงอเอ่อเอิงเอ๊ย จบส่งเชียวนะลงวา
จะพอครบสาธุการ เสียงกลองระนาด ฉาดฉาน
ประชาชน คนชม กลองก็ตี ปีก็ต่อย
เพลงค่อยเดินลอยสาดสม
เอ่อ..เอิงเอ๊ยท้าย..(ฟังไม่ชัด) (ลูกคู่รับ)

กลองก็ตี ปี่ก็ต่อย ๆ เพลงค่อยเดินลอยสาดสม เอย..(ฟังไม่ชัด)
ชัดช้า

ย่าตะลุ่ม สุทนต์
“ผู้ชายว่าไปนาน....จัดแจงแต่งตัวหวีหัวนุ่งผ้า จะไปหานางใน..
ยังกะเขาว่า(ว่าคือร้อง)อีแซวนั่นแหละ ทีนี้ผู้หญิงว่า...

ว่าได้ยินสุนทร พี่มาวอนประวิง
ส่งสำเหนียก เรียกหาหญิง

โอละพ่อโสธร สองธร เป็นสมโพหรือท่านสมภาร
เสียงผู้ใดใครเอาหวาน มาวอน เอิงเงอเออ เอิ่งเออ..ไว้
(ลูกคู่ผู้หญิงรับ)
สมโพหรือท่านสมภาร ๆ
เสียงผู้ใดใครเอาหวาน มาวอน เอิงเงอเอย เอิงเง่อ..ไว้
โอ้ยแม่ โอ้ละชา โอ้ละชา ชาฉัดชาชะ หน่อละนอยนี้นอละหนอย หนอดละนอดละหน่อย หนอย หนอยแม่ก็ชาชา เชิบ เชิบ”

คมสันต์
ไม่รู้จะหาใครมาเป็นลูกคู่แล้วซิย่า (ลูกคู่รุ่นเดียวกันจากลาโลกนี้กันไปหมด)

ย่าตะลุ่ม สุทนต์
“เฮอะๆๆ (เสียงหัวเราะในลำคอ อย่างมีความสุข) มันเกริ่นกันไปนาน ไปเจอะไปเจอกันเรียกให้ไปกินหมากกินพลู
เข้าบ้านเข้าช่องขึ้นเรือน ไปเช่านา เช่าไร่ หรือไปหาอะไรเขาก็บอกกันเชียว ชมสวนก็ไปกัน
เพลงมันมีเรื่องไปอย่างนั้น แก้กันไปจนจบ.. ให้ผู้หญิงลงก่อนแล้วก็เข้าเรื่อง”

คมสันต์
“สมมุติว่าเข้าเรื่องขุนช้างขุนแผน จับตอนไหนดีล่ะครับ

ย่าตะลุ่ม สุทนต์
“เมื่อลาวทองล่องมา พระพันวษาโกรธ ขุนแผนเป่ามนต์ ..
มันไปเป่ามนต์หลังพระพันวษา ก็หายเคือง ถึงได้เลื่อนยศให้เป็นขุนแผนไง...
ขุนช้างขุนแผนเล่นเป็นเดือนๆก็ไม่จบ เรื่องมันยืดยาว เล่นกันตั้งแต่บัวคลี่ ลูกตาหมื่นหาญ..

คมสันต์
“อย่างเราไปงานเราเลือกเรื่องยังไงครับ”

ย่าตะลุ่ม สุทนต์
“ตัว(พ่อเพลงแม่เพลง/นักแสดง)เราเยอะเราก็เลือกเรื่องที่มีตัวละครเยอะ
แต่ถ้าตัวเราน้อยก็เลือกจับตอนที่ใช้คนน้อย ... วันทองห้ามทัพ นี่เรื่องมันก็หลายตัว มันมีพลายชุมพล ไปรบกันที่ป่าตอกับพระไวย วันทองนี่ก็ออกห้ามทัพ ขุนแผนมาถึงก็เข้าข้างพลายชุมพล มาถึงก็โดดฟันพระไวย แล้วพระไวยเลยหนีไปหาพระพันวษา ฟ้องบอกว่าพ่อเข้าข้างมอญ พระพันวษาจึงเรียกให้เข้าเฝ้า พลายชุมพลนี่ลูกขุนแผนกับนางแก้วกิริยานะ ส่วนพระไวยเนี่ยลูกนางวันทอง พ่อไม่รบแต่มาช่วยลูก ...เริ่มแรกเดิมที มันเป็นอย่างงี้ พระไวยกับศรีมาลาแต่งงานกัน สร้อยฟ้าทำเสน่ห์แล้วยุว่า ศรีมาลากับพลายชุมพลเป็นชู้กัน แท้ๆยังเป็นเด็กอยู่เลยอาบน้ำก็กอดจูบน้องผัว ก็เลยตีทั้งสองคน จนทนไม่ได้ นี่ก็เลยหนีไปสุโขทัยกับกุมารทอง กี่วันกี่คืนก็ไป พ่อแก่แม่แก่ของพลายชุมพล อยู่สุโขทัย ก็ไปลักมะยมกิน ปีนต้นมะยมมั่งซิ เขาก็ออกมาตี กว่าจะรู้ว่าหลานก็ตีแทบตาย....”

คมสันต์/น้องโอ้ต
“แล้วสังข์ทองเล่นไหม”

ย่าตะลุ่ม สุทนต์
“เล่น เล่นตอนสังข์ทองออก(คลอด) เมียน้อยยุแหย่ว่าลูกออกในหอยเป็นกลีบ้านกลีเมือง .. เรื่องอื่นก็ ..แก้สินบนต้องเอาเรื่องชาละวัน เอาตอนนี้เชียว ตอนนางตะเภาแก้วตะเภาทองมาเล่นน้ำ

ย่าตะลุ่มร้อง
“จะกล่าวถึงชาละวันกุมภี แต่ละวันจะมีสาเหตุ
จะเกิดอัมพันประหลาดเภท กันไป
ฝันว่า..............................................”

ฝันว่าแร้งกามาหนึ่งฝูง....... กระทงจม
พระท่านให้เทียนระเบิดน้ำ แล้วก็ใช้ด้ายดิบสามเส้นดึงตะเข้ขึ้นมาได้

คมสันต์
“แล้วเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้”

ย่าตะลุ่ม สุทนต์
“เกี่ยวซิ ไม่งั้นแก้ไม่ขาด(แก้สินบนไม่ขาด)..

ร้องทรงเครื่องแก้บน จนจระเข้ต้องขึ้นมาฟัง
นี่ถ้าสรร ระ เสริญ ดีๆนี่ตะเข้ขึ้นเลยนะ เมื่อแรกตะเข้ขึ้น ที่หัวท้ายสุดนี่ คนมันไม่ดูเพลงเลย มันวิ่งไปดูตะเข้

เมื่อแรกข้าดังอยู่คนเดียวนี่นะในอ่างทอง เล่นให้ตะเข้ สรร ระ เสริญ นี่ตะเข้ขึ้นเชียวนะ
หัวท้ายสุดเลยคอตันไปหน่อย(อยู่ในเขตอำเภอสามโก้)
หัวตะเข้อยู่บนศาลเยอะเชียว จะเป็นเจ้าพ่อหลักเมือง หรือเจ้าพ่อร่มข้าว ศักดิ์สิทธิ์จังเลย
เรานี่ร้องแพ้ตะเข้นะ พอสรร ระ เสริญเรื่องชาละวันขึ้นเนี๊ยะ ..
ขึ้นมาไม่ร้องนะ ขึ้นมาเงียบๆ ขึ้นมาตัวเดียว ตัวใหญ่
เราก็กำลังเล่นเลยไม่ได้ไปดู พวกดูไปหมด ไปเกลี้ยงเลย เราก็ต้องเล่น .....
เจ้าภาพเขาไม่กำหนดเรื่องหรอก แล้วแต่เรา เขาก็ตั้งใจให้ขาด
............................................

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ครูหมัด จ.ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต มือฆ้องสุดยอดในตำนานประชันปี่พาทย์ แห่งสำนักบ้านบางลำพู

ครูหมัด จ.ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต :
มือฆ้องสุดยอดในตำนานประชันปี่พาทย์ แห่งสำนักบ้านบางลำพู
คมสันต์วรรณวัฒน์ สุทนต์ เรียบเรียง

ครูหมัด หรือบางท่านที่สนิทชิดเชื้อก็จะเรียกอย่างเป็นกันเองว่า “ป๋าหมัด” จ.ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต ผมถือว่าท่านเป็นมือฆ้องสุดยอดในตำนานประชันปี่พาทย์ แห่งสำนักบ้านบางลำพู -ดุริยประณีต

ครู(จ.ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต) เกิดเมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม 2479 เป็นบุตรชายคนที่สอง ของครูชั้น ดุริยะประณีต และคุณแม่จิตรา (นามสกุลเดิม โชติมัย) เป็นหลานปู่ศุข - ย่าแถม ดุริยประณีต

ตอนเล็กๆ ซัก สามสี่ขวบ ก็ตามครูผู้ใหญ่ในบ้าน ไปตีเครื่องประกอบจังหวะกับวงปี่พาทย์ลิเกคณะหอมหวล ที่วิกตลาดทุเรียน แล้วจึงมาเริ่มฝึกฆ้องกับปู่ศุข ดุริยประณีต, ครูหงส์, ครูอยู่ พวงพรหม เรียนเครื่องหนังเพิ่มเติมจากครูโชติ ดุริยประณีต และหม่อมหลวงสุรักษ์ (ป๋าตู๋) สวัสดิกุล

แล้วมาเข้าโรงเรียนนาฏศิลป ชื่อเรียกสมัยนั้น ได้ต่อเพลงกับ ครูหลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตนวิลัย) จากนั้นเรียนต่อเดี่ยวฆ้องวงใหญ่จากครูสอน วงฆ้อง เริ่มตั้งแต่เดี่ยวเพลงแขกมอญสามชั้น ไปจนถึงกราวในและทยอยเดี่ยวสูงสุด

ครูได้จับมือครอบเครื่องหนังจากท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) แล้วรับมอบเป็นครูดนตรี จากคุณครูมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ และครูสอน วงฆ้อง

เริ่มทำงานที่กองดุริยางค์ทหารบก แล้วโอนย้ายมาอยู่กองการสังคีต กรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ.2535

ได้รับเชิญไปสอนดนตรีให้กับศิษย์หน่วยงานสถาบันต่างอาทิ ภาควิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผู้เขียน : ได้ทันเรียนวิชาเครื่องหนังและเครื่องประกอบจังหวะ 2 กับครูหมัด ท่านมาสอนสืบต่อจากครูสมพงษ์ นุชพิจารณ์) ,ชมรมดนตรีไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และโรงเรียนอนุบาลจุไรรัตน์ เป็นต้น

ผลงานเพลงที่ครูแต่งไว้ได้แก่ โหมโรงพระจอมเกล้า 3 ชั้น, เพลงพญากุญชร เถา, เพลงนวมหาราช เถา, เพลงจำปานารี เที่ยวเปลี่ยน ส่วนเพลงดี่ยวได้แต่งเดี่ยวเพลงสารถี 2 ชั้น –ชั้นเดียว เดี่ยวฆ้องมอญเพลงเทพนิมิตร, เพลงเทพบรรทม, เพลงอาเฮีย, เพลงสาริกาชมเดือน, เพลงนกขมิ้น ฆ้อง 6 ลูก และเดี่ยวแขกมอญฆ้อง 8 ลูก เป็นต้น

เคยบรรเลงเดี่ยว(เดี่ยวชัยมงคล)หน้าพระที่นั่ง ถวายแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เดี่ยวฆ้องวงใหญ่ เพลงม้าย่องสามชั้น (ผู้เขียน : สามารถเข้าไปชมได้โดย คลิกที่ชื่อเพลงม้าย่องสามชั้น)

ในความทรงจำของผม ครูหมัดเป็นคนอารมณ์ดี มีเมตตากับศิษย์พูดตรงๆ ใจนักเลง ผมชอบฟังท่านเล่าเรื่องราวการประชันปี่พาทย์ มาอย่างโชกโชน... ผม ได้เจอและเข้าไปกราบครูก่อนครูไม่สบาย(มาก) คราวงานฉลองครบอายุ 80 ปี แม่จิตต์ -ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑

ป๋าตู๋-หม่อมหลวงสุรักษ์ สวัสดิกุล เคยเล่าให้ผมฟัง (ประมาณ พ.ศ. 2534-2537) ช่วงที่ผมเคยไปต่อฆ้องกับท่านที่บ้านซอยพญานาคว่า “ทั้ง(ครู)หมัด และ (อาจารย์) นิกร (จันทศร) เป็นลูกศิษย์ครูสอน (วงฆ้อง) ที่ตีฆ้องได้ดีเยี่ยมไหวทั้งคู่ แต่(ครู)หมัด ถนัดซ้าย (อาจารย์)นิกร ถนัดขวา เดี่ยวเพลงเดียวกัน ครูจะต่อมือต่างกัน”

นี่เป็นคำบอกเล่าเท็จจริงเป็นเช่นไร ต้องขอความรู้จาก อาจารย์นิกร จันทศร ปรมจารย์ฆ้องวงใหญ่ และลูกศิษย์ลูกหาของครูทั้งสองท่านช่วยพิจารณาตามความเหมาะสม

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าใจหายมากกว่าคือ วานนี้ 23 สิงหาคม 2554 มือฆ้องสุดยอดในตำนานประชันปี่พาทย์ แห่งสำนักบ้านบางลำพู –ดุริยประณีต ครูหมัด จ.ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต ได้จากพวกเราลูกศิษย์ลูกหาไปแล้ว...

อานิสงค์จากการอนุโมทนาบุญ หลังจากได้อ่านบทความระลึกถึงความดีงามใดๆ ขอน้อมอุทิศส่งตรงไปถึงครู จ.ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต ทั้งหมด หากมีข้อความใดพลั้งพลาด ผู้เขียนกราบขออภัยท่านผู้อ่านมา ณ ที่นี้


ข้อมูลจาก
•ความทรงจำดีๆที่ได้เคยพูดคุยกับครูหมัด-จ.ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต และ ป๋าตู๋ -หม่อมหลวงสุรักษ์ สวัสดิกุล
•บ้านบางลำพู :ชุมชนดนตรีไทยชาวบ้านที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ของกรุงเทพฯ /ณรงค์ เขียนทองกุล ; สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ
•การสืบทอดเพลงไทยบ้านบางลำพู : วัฒนธรรมมุขปาฐะ มานพ วิสุทธิแพทย์ และคณะ ปี พ.ศ. 2544


วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กลอนธรรมคำสอนพ่อ

เรียบเรียงโดย
คมสันต์วรรณวัฒน์ สุทนต์


บุญ ..ใดที่ก่อเกิดให้ผู้อ่านผู้ฟังเกิดปัญญา
สม..ดังเจตนาที่พ่อและข้าพเจ้ามุ่งหวัง
ขอผลบุญกุศลแห่งธรรมทานนี้
จงส่งไปกลับไปยังบิดามารดาครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณของท่านทุกชาติทุกภพเทอญ




ขออุทิศบุญกุศลแห่งงานเผยแผ่ธรรมแด่บิดาของข้าพเจ้า พ่อบุญสม สุทนต์
ปู่หมอบาง-ย่าหนู สุทนต์, ก๋งเชียง-คุณยายสมบูรณ์ สุขุมกาญจนะ
ครูบาอาจารย์ดนตรีไทยบนสรวงสวรรค์
ครูสำรวย งามชุ่ม, ครูประเทือง เสียงเสนาะ, หม่อมหลวงสุรักษ์ สวัสดิกุล, ครูสาคร ภู่เหม,
ครูสมพร พิณพาทย์, ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์, ครูสมพงษ์ นุชพิจารณ์, ครูพักลักจำทุกองค์ ทุกท่าน


สารบัญ
แม้นผู้ใดให้การช่วยเหลือเกื้อหนุน 5
แง่โลก 6
แง่ธรรม 7
คำกล่าวอวยพร 8
คำอธิฐานซื้อกระเบื้อง 9
คำอธิฐานเวลาทำบุญ 10
กองทุกข์ตอนที่ 1 11
อนิจจัง 12
สังขาราสังขาระ 13
ตายเอ๋ยตายแน่ 13
เมื่อมียศเขาก็ยอมรับนับเป็นญาติ 13
งดทำกรรมชั่วช้า 13
ดีแต่ปากอยากดี 14
ถูกท่านติต้องตรองมองที่ติ 14
เมื่อน้ำให้รีบตักผัดผ่อน 14
คำสรรเสริญเยินยอ 15
คติธรรมความกตัญญู 15
ศีล ภาวนา 16
วัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านสร้าง 17
อันความไมตรีนี้ไซร้ 17
จากหนังสืออนุทินทรรศนะ 18
การเสียสละ 19
มโนธรรม 19
รางวัลชีวิต 20
คนดีและคนชั่วเป็นครูเราได้ 21
มองสัตว์เช่นผึ้ง 21
ถึงครูจะเป็นเรือจ้างดังเขาว่า 21
อันครูดีก็เป็นศรีแก่มวลศิษย์ 22
ชาติยืนยงคงอยู่เพราะครูดี 22
ครูดีศรีย่อมติดถึงศิษย์ด้วย 22
โภชนาทานานุโมทนาคาถา 23
อัคคัปปะสาทะสุดตะคาถา 24
อนุโมทนารัมภะคาถา 25-26
ทานานุโมทนาคาถา 27-28
แผ่เมตตาแบบโบราณ 29





























วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

แหล่ธรรมมะ พระพร ภิรมย์ โดย คมสันต์วรรณวัฒน์

แหล่ธรรมมะ พระพร ภิรมย์ โดย คมสันต์วรรณวัฒน์ สุทนต์

บทความนี้ข้าพเจ้ามีความตั้งใจเขียนเพื่อน้อมบูชาคุณ หลวงพ่อพร ภิรมย์ ผู้เป็นศิลปินชั้นครูผู้เปี่ยมด้วยธรรมมะ สาระโลกและสาระธรรมใดๆ หากยังประโยชน์แก่ผู้อ่าน ขอจงเป็นบุญบริสุทธิ์ส่งตรงไปถึงทิพยญาณ หลวงพ่อพร ภิรมย์ ศิลปินแห่งธรรมะ(ชาติ) นั่นแล

กำหนดการพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ และเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานงานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อพร ภิรมย์ วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม เวลา 17.00 น.


ดาวลูกไก่ในปฐมวัย...โอ้ชีวิตคิดไฉน ใครหนอใครลิขิต

ผมคุ้นเคยกับเสียงเพลงของหลวงพ่อพร ภิรมย์ มาตั้งแต่เด็ก “ดาวลูกไก่” (แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓) เป็นเพลงราชนิเกลิงแบบลิเกที่พ่อเปิดเทปคาสเซทฟังซ้ำนับร้อยหน ทำให้ผมซึมซับลีลาการร้องท่วงทำนองและเนื้อหาเพลงไปโดยอัตโนมัติ บางครั้งแอบปาดน้ำตาเพราะซึ้งในความกตัญญูรู้คุณของเจ้าแม่ไก่ บางทีเด็กชายตัวน้อยต้องย่องไปนับว่าแม่ไก่คลอกใหม่มีลูกเจ็ดตัวเหมือนอย่างในเพลงหรือเปล่า? ยิ่งถ้าคืนไหนที่ฟ้าโปร่งก็จะจ้องมองว่า กลุ่มดาวลูกไก่อยู่ตรงไหนของขอบฟ้า?
โอ้ชีวิตคิดไฉน ว่าใครหนอใครลิขิต ประกาศิตของศิวะ หรือของพระพรหมเจ้า
ว่าต่างกำเนิดเกิดมา พอลืมตามองโลก บ้างมีโชคบ้างอับโชค มีสุขโศกปนเศร้า
จอมนราพิสุทธ์ ท่านสอนพุทธบริษัท เป็นธรรมะปรมัตถ์ อ้างถึงอำนาจกรรมเก่า
ว่ากุสะลาธรรมา มนุษย์เกิดมามีสุข อกุสะลาพาให้ทุกข์ ดังไฟที่ลุกรุมเร้า
บ้างกึ่งดีกึ่งชั่ว เพราะตัวของตัวมัววุ่น สร้างทั้งบุญทั้งบาป เหมือนคำที่ฉาบด้วยขาว
ผมมิใช่บัณฑิต อันมีจิตสิเหน่หา ที่จะเป็นนักเทศนา มาเจรจายั่วเย้า
จึงตั้งศรัทธาสาทก เรื่องยาจกยากจน มีตากับยายสองคน ปลูกบ้านอยู่บนเชิงเขา
แกเลี้ยงแม่ไก่อู มีลูกอยู่เจ็ดตัว เช้าก็ออกริมรั้ว จิกกินเม็ดถั่วเม็ดข้าว
เวลามีเหยี่ยวเฉี่ยวโฉบ นังแม่ก็โอบปีกอุ้ม กางสองปีกออกคลุม พาลูกทั้งกลุ่มเข้าเล้า
แม่ไก่จะปลอบขวัญลูก เสียงกุ๊กกุ๊กปลุกขวัญ ลูกตอบเจี๊ยบเจี๊ยบดังลั่น ทั้งทั้งที่ขวัญเขย่า
แล้วเขี่ยข้าวออกเผื่อ ต่างคุ้ยเหยื่อออกให้ ลูกไก่แม่ไก่ไร้ทุกข์ ซิไม่มีสุขใดเท่า
ถึงคราวจะสิ้นชีวิต เมื่ออาทิตย์อัสดง ยังมีภิกษุหนึ่งองค์ เดินออกจากตรงชายเขา
ธุดงค์เดี่ยวด้นดั้น เห็นสายัณห์สมัย หยุดกางกรดพลางทันใด หลังบ้านตายายผู้เฒ่า
อยากรู้เรื่องต่อก็ต้อง เปิดหน้าสองฟังเอา
พระธุดงค์ลงกรด ตะวันก็หมดแสงส่อง อาศัยโคมทองจันทรา ที่ลอยขึ้นมายอดเขา
ฝ่ายว่าสองยายตา เกิดศรัทธาสงสาร พระผู้ภิกขาจาร จะขาดอาหารมื้อเช้า
ดงกันดารย่านนี้ หรือก็ไม่มีบ้านอื่น ข้าวจะกล้ำน้ำจะกลืน จะมีใครยื่นให้เล่า
พวกฟักแฟงแตงกวา ของเราก็มาตายหมด นึกสงสารพระจะอด ทั้งสองกำสลดโศรกเศร้า
สักครู่หนึ่งตาจึงเอ่ย นี่แน่ะยายเอ๋ยตอนแจ้ง ต้องเชือดแม่ไก่แล้วแกง ฝ่ายยายไม่แย้งตาเฒ่า
ส่วนแม่ไก่ได้ยิน น้ำตารินหลั่งไหล ครั้นจะรีบหนีไป คงต้องตายเปล่าเปล่า
อนิจจาแม่ไก่ ยังมีน้ำใจรู้คุณ ที่ยายตาการุณ คิดแทนคุณเม็ดข้าว
น้ำตาไหลเรียกลูก เข้ามาซุกซอกอก น้ำตาแแม่ไก่ไหลตก ในหัวอกปวดร้าว
อ้าปากออกบอกลูก แม่ต้องถูกตาเชือด คอยดูนะเลือดแม่ไหล พรุ่งนี้ต้องตายจากเจ้า
มาเถิดลูกมาซุกอก ให้แม่กกก่อนตาย แม่ขอกกเป็นครั้งสุดท้าย แม่ต้องตายตอนเช้า
อย่าทะเลาะเบาะแว้ง อย่าขัดแย้งเหยียดหยัน จงรู้จักรักกัน อย่าผลุนผลันสะเพร่า
เจ้าตัวใหญ่สายสวาท อย่าเกรี้ยวกราดน้องๆ จงปกครองดูแล ให้เหมือนดังแม่เลี้ยงเจ้า
น่าสงสารแม่ไก่ น้ำตาไหลสอนลูก เช้าก็ถูกตาเชือด ต้องหลั่งเลือดนองเล้า
ส่วนลูกไก่ทั้งเจ็ด เหมือนถูกเด็ดดวงใจ พากันโดดเข้ากองไฟ ตายตามแม่ไก่ดังกล่าว
ด้วยอานิสงส์ใจประเสริฐ ลูกไก่ไปเกิดเป็นดาว






แหล่อีโรติก...ฉิมพลีพิมานมาศ สุดสวาทนาถกากี...
พอเริ่มโตขึ้นมาหน่อยผมก็ไปเรียนมโหรีปี่พาทย์ ได้ติดตามครูไปออกงานบวช ก็ต้องเล่นระนาดฯเพลงรับร้องหมอทำขวัญ เห่ฉิมพลี (แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓) เป็นเพลงยอดฮิตสำหรับโชว์คั่นเวลาที่หมอทำขวัญต้องร้องได้ ไม่อย่างนั้นมีหวังอดรางวัลจากเจ้าภาพ ซึ่งมักจะเรียกเงินได้มากกว่าค่าตามหมอตำแยและตอนเบ่งท้องคลอดลูกเสียอีก
เมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยถึงได้รู้ว่า “ฉิมพลี” เป็นฉากหนึ่งใน บทเห่เรื่องกากี ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์(เจ้าฟ้ากุ้ง)
บทสังวาส
สองสุขสองสังวาส แสนสุดสวาทสองสู่สม
สองสนิทนิทรารมณ์ กลมเกลียวชู้สู่สมสอง
แย้มยิ้มพริ้มพรักตรา สาภิรมย์สมจิตปอง
แสนสนุกสุขสมพอง ในห้องแก้วแพรวพรรณราย
ลมพัดกลัดเมฆเกลื่อน ฟ้าลั่นเลื่อนแลบแสงพราย
วลาหกตกโปรยปราย สายสินธุ์นองท้องธารา
เหราร่าเริงรื่น ว่ายเคล้าคลื่นหื่นหรรษา
สองสมกลมกรีฑา เปนผาสุขทุกนิรันดร์ ฯ
ส่วนท่วงทำนองเป็นเห่จากเพลงเต่าเห่ผสมแหล่ที่เป็นแบบฉบับของ พร ภิรมย์ ที่ลงตัวมาก ส่วนเนื้อเพลงเป็นบทอัศจรรย์ ที่ใช้ธรรมชาติเป็นสัญลักษณ์แทนการแสดงพฤติกรรมทางเพศ เขียนให้เข้าใจง่ายๆก็คือ “บทร่วมเพศ” หรือ อีโรติก [Erotic] นั่นเอง ซึ่งน่าจะเป็นเพลงเดียวแบบจัดเต็มที่ท่าน(พร ภิรมย์) เขียนไว้ลายอย่างชัดแจ้งให้ประจักษ์ชั้นเชิง ว่าเพลงดี ไม่ต้องมีคำสองแง่สองง่ามโจ่งครึมก็ได้ “เด็กฟังได้ ผู้ใหญ่ฟังดี” ไม่มีเซ็นเซอร์ [Sensor]
“ฉิมพลีพิมานมาศ สุดสวาทนาถกากี เวนไตยให้ยินดี ปรีดาแนบแอบนางชม
สองสุขสองสวาท แสงโสมสาดแสนสุขสม สองสนิทสองชิดชม สองภิรมย์สมฤดี
นบแนบนวลนางนอน กางสองกรโอบกากี ชื่นชีวันขวัญชีวี แนบฉิมพลีหลับไม่ลง
สะท้านชานไกรลาศ พิศวาสประหลาดหลง พระสุเมรุค่อยเอนลง ทอดยอดตรงหิมพานต์
นาคีสีพันดร เริงสาครกระฉอกฉาน กระเทือนถึงบาดาล แผ่พังพานเข้าถ้ำไป
ราหูจับจันทรา สู้ฤทธิ์ราหูไม่ไหว ราหูอมสมฤทัย ไม่ยอมให้พระจันทร์จร
อสุนีบาดฟาดสายฟ้า ต้องภูผาหน้าสิงขร ราหูอายคลายจันทร สุดอาวรณ์อาลัยจันทร์
นาคีเริงสาคร กล่อมใจตัว กลัวสุบรรณ แผลงฤทธิ์พ่นพิษหลับ หนีสุบรรณเข้าฉิมพลี”






พบศิลปินในดวงใจ พร ภิรมย์ ครั้งแรก
พ.ศ.๒๕๓๕ ได้พบหลวงพ่อพร ภิรมย์เป็นครั้งแรก ในงานมุทิตาจิต ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ อายุครบ ๗๒ ปีผมได้มีโอกาสพูดคุยและดูแล นิมนต์ท่านไปนั่งพักผ่อนในเรือนไทยจุฬาฯ ท่านยังดู แข็งแรงเดินเหิรกระฉับกระเฉง น้ำเสียงเวลาพูดคุยนุ่มนวลแต่ดังก้องกังวาลดุจราชสีห์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของนักร้อง นักพูดคุณภาพที่ดูแลสุขภาพรักษาเสียงตัวเองอย่างดีตลอดเวลา เนื้อเสียงฟังดูแทบไม่แตกต่างจากเสียงร้องที่ผมได้ยินจากเทปตอนเด็กๆ “ผมเปิดตัวคุยกับท่านก่อนว่า “..ชอบฟังเพลงแหล่ของหลวงพ่อมาตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อผมที่มีชื่อเหมือนกับหลวงพ่อ(บุญสม) จะเปิดเทปแหล่ฟังซ้ำทุกวัน..”

สิ่งสำคัญที่เป็นเหมือนจิกซอลให้ผมต่อเรื่องราวติดอีกหนึ่งชิ้น และเป็นคำตอบสำคัญว่า ทำไม? ดนตรีประกอบแหล่ของพร ภิรมย์ จึงไพเราะจับใจ..ก็เพราะท่านได้เพื่อนนักดนตรีฝีมือเยี่ยมยอดชั้นครู อาทิ ครูบุญยงค์ – ครูบุญยัง เกตุคง, ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งต่อมาล้วนได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติทั้งสิ้น มาช่วยคิด ช่วยเล่นดนตรีเกือบทุกอัลบั้ม อย่างกับที่ ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ได้ให้สมัภาษณ์ไว้ในหนังสือ ลมไม่รู้โรย หน้า ๘๓-๘๔ ว่า

“..รุ่นหลังที่มาทำเพลงด้วยเป็นงานเป็นการเนี่ยก็ พร ภิรมย์ ซิเยอะ เทปเพลงของ พร ภิรมย์ ที่วางขายกันนะ ฉันไปเล่นมาด้วยทั้งนั้น ไปกับวงนายยงค์นายยัง(ครูบุญยงค์ – ครูบุญยัง เกตุคง) เป็นคนซออู้ให้เขา ชุดแรกที่อัดกับพร ภิรมย์ ชุดบัวตูม บัวบานอะไรเนี่ย แล้วก็มาดาวลูกไก่ สีซออู้ทั้งนั้น วงที่ไปเล่นกับเขานี่ มีทั้งวงปี่พาทย์ทั้งวงอะไร จีนด้วย มีตั๋งโต๊ะ เตียวเสี้ยนพร ภิรมย์เขาก็ร้องทางจีน มีครูบุญยงค์ตีขิม ครูบุญยังสีซอ ก็ไปเป่าขลุ่ยด้วย...พร ภิรมย์ นี่เขาแต่งเพลงเอง เนื้อร้องเอง กลอนเอง แต่ทำนองเขาก็เอาใครมั่งมากลายแปลงๆ ที่เห็นก็เอากลอน(เพลง)จากครูบุญยงค์นั่นแหละ แต่ว่าบางทีก็เอาไปแยก ทีเวลาพวกเพลงแหล่เพลงด้น พวกนั้นเวลาด้นกลางๆ แหล่อะไรอย่างเนี๊ย ครูบุญยงค์ก็จะแต่ง แล้วพร ภิรมย์คั่น ทีนี้ก็ร้องต่อไป แล้วซอก็เคล้าไป หลักเล่นซอเคล้าแหล่ นี่เราร้องได้อยู่แล้วพอเขาขึ้นกลอนไหน เรารู้ว่าเป็นกลอนนั้น เราก็ดักถูก..
(ถาม : ปรกติการแหล่ เขาจะต้องมีซออู้คลออยู่เสมอหรือเปล่า?) ไม่ แต่ก่อนนั้นมันไม่มีมานะ แต่สมัยพร ภิรมย์ถึงได้ทีซอมาเคล้าแหล่ เพราะว่าทำนองกลอนนี่มันให้ พอขึ้นปุ๊บนี่เราก็จะรู้ว่าจะไปลงลูกไหน เขาขึ้นสำเนียงอย่างนี้นะ ไปอย่างนี้อย่างนี้ ต้องไปลงลูกนี้จบลูกนี้แล้ว ไปลงลูกนี้เราก็เคล้าถูก เรารู้ทาง เราร้องได้เหมือนกันอยู่แหละเนี่ย...”






อีกสิบหกปีต่อมาได้พบ พร ภิรมย์ ครั้งที่สอง
๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ สิบหกปีให้หลังผมก็ได้พบหลวงพ่อพร ภิรมย์ อีกครั้งคราวนี้ได้ฟังท่านเทศนาในงานมุทิตาจิต ๘๐ ปี แม่จิตต์ - ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติ ที่ผมจำวันเดือนแม่นยำเพราะตรงกับวันเกิดผมพอดีวันนั้นผมทำหน้าที่ดำเนินการเสวนาหัวข้อ “ดนตรีไทย จากบ้านใหญ่ดุริยประณีต”
แล้วหลวงพ่อพร ภิรมย์ มีความเกี่ยวข้องผูกพันธ์อะไรกับบ้านดุริยประณีต บางลำพู ?

ท่านได้มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ครูเหนี่ยว ดุริยะพันธุ์ ครูร้องคนสำคัญแห่งบ้านบางลำพู ซึ่งน่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ท่านสร้างสรรค์ผลงานเพลงไทยผสมแหล่ที่มีรสชาดลงตัว และเพลงชุดสามก๊ก ในเวลาต่อมา จึงไม่สงสัยเลยว่าทำไมเรื่องรับร้องเพลงไทย ท่านจึงมีภูมิความรู้ ฐานแน่นขนาดนั้น นอกจากมีเพื่อนนักดนตรีที่เก่งกาจแล้ว ยังเสาะแสวงหาฝากตัวเป็นศิษย์ครูดีฝีมือชั้นเลิศด้วยนั่นเอง





พบ พร ภิรมย์ ครั้งที่สาม ที่อยุธยา
๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ ผม(คมสันต์ สุทนต์),อาจารย์อานันท์ นาคคง, อาจารย์อัษฏาวุธ สาคริก ฯ เดินทางไปนมัสการเยี่ยมเยียนพูดคุยกับหลวงพ่อพร ภิรมย์ ที่วัดจีน-รัตนชัย อยุธยา เพื่อขออนุญาต นำเสนอผลงานท่าน ในรายการไทยโชว์ ตั้งใจว่าจะใช้ชื่อตอน “แหล่ธรรมมะ (พระ)พร ภิรมย์” ท่านก็เมตตาอนุญาตให้นำเสนอได้ ซึ่งต้องกลับมาทำการบ้านอย่างหนักและยาวนาน เพราะผลงานเพลงของท่านเยอะมาก เพลงแหล่พอค้นลึกๆยิ่งมีจำนวนมาหลากหลายรูปแบบ จนในที่สุดก็ไม่ทันกาล เพราะท่านได้จากไปเสียก่อน
ผลงานของแหล่ของท่านบางส่วนที่ผมอยากเลือกนำเสนอก็จะมี องคุลีมาล, วังแม่ลูกอ่อน, ดาวจระเข้,เศรษฐีอนาถา, นกกระจาบ, ลูกเมื่อ 25 น., พ่อกับแม่, ใจพ่อใจแม่, ลูกโจรเปลี่ยนใจ, รักเดียวใจเดียว, แหล่ใจโจร, กระต่ายตื่นตูม, วัวกับกบ, ริมไกรลาศ, ชมดง ฯลฯ







แหล่องคุลีมาล จอมโจรกลับใจ

องคุลีมาล (แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒) เป็นแหล่ที่ส่วนตัวผมชอบมากที่สุด เพราะท่านต้องใช้ความเพียรพยายามอุตสาหะ ใน การแต่งเนื้อร้องถึง 20 ตอน เริ่มจาก ปุโรหิตาจารย์, ใต้ดาวโจร, ปเสนทิโกศล, ทารกไร้เดียงสา, อหิงสกะกุมาร, ฝืนดวง, ลาแม่, สอนลูก, สู่ตักกะศิลา, กำนลครู, อหิงสกะดวงเด่น, อหิงสกะดวงดับ, ครูหูเบา, วิษณุมนต์, น้ำตาแม่, มาลัยนิ้วมนุษย์, ผู้ปราบโจร, ธรรมานุภาพ, มาลัยกิเลส และองคุลิมาล
ทำให้ผมเดาทางได้ว่าท่านจะร้องด้นก่อนจดบันทึก ทำให้งานออกมาไหลลื่นและฉับไวมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่บุคคลธรรมดายากที่จะทำได้นอกจากอัจฉริยะ แต่ต้องเป็นอัจฉริยะที่มีความอดทนสูงด้วยไม่อย่างนั้นงานไม่สำเร็จ ยิ่งถ้าเป็นแหล่สดร้องต่อเนื่อง 20 ตอน กินเวลาเป็นชั่วโมง ถ้าเนื้อหาไม่สนุก เข้าใจง่าย คงเป็นเรื่องที่น่าเบื่อทั้งคนแหล่และคนฟัง
แต่สำหรับแหล่ องคุลีมาล ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ตรงกันข้ามกลับสนุกเร้าใจ ทั้งเนื้อหายึดในพุทธประวัติ พระสุตันตปิฎกฯ ไม่หลุดแก่น แทรกวิถีชีวิตแนวคิดความเชื่ออย่างไทยไว้เช่น
“เรือนสามน้ำสี่” ตอนใต้ดาวโจร ที่พรามณ์มันตาคูปุโรหิตผู้เป็นสามีชื่นชมมันตานีว่าเป็นศรีภรรยานั้นดีไม่มีที่ติ
“นางถือพรหมสมเป็นพราหมณ์ รู้เรือนสามและน้ำสี่ ความชั่วใดไม่เคยมี สมเป็นศรีภริยา..”
“ลิงยังสอนได้” ตอนทารกไร้เดียงสา ที่ปัสเสนทิโกศลพระราชาตรัสให้กำลังใจพราหมณ์ปุโรหิต ผู้เป็นพ่อของ อหิงสกะว่า ลิงคนยังสอนให้เล่นละครลิงได้นับประสาอะไรกับเด็กตัวเล็กๆ ถ้าเลี้ยงดูเขาให้เป็นคนดีตั้งแต่แรก โตขึ้นเขาจะไปเป็นโจรได้อย่างไร?
“...กล่อมดวงใจฝืนดวงโจร ย่อมอ่อนโยนดัดสันดาร ให้รู้กรรมธรรมการ ช่วยกันแก้แลกล่อมเกลา ให้รู้บาปให้รู้บุญ โทษและคุณอบรมเขา แม้แต่ลิงคนยังเอา มาฝึกสอนละครลิงฯ”

“อย่าขายชาติ” ตอนสอนลูก นางพราหมณ์มันตานีผู้เป็นแม่ได้สอนสั่งลูกอหิงสกะก่อนลาไปร่ำเรียนวิชากับอาจารย์ว่า

“.......ลูกจงจำคำแม่สอน หมั่นสังวร เอาไว้ว่า... รักษาชาติและแดนดิน อย่าเป็นทาสเอาชาติขาย รักษาบุญจงหลีกบาป อย่าทำหยาบอย่าทำคาย รักความสุขสนุกสบาย ต้องสร้างผลกุศลทาน..”

สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประพันธ์มีความรู้สึกนึกคิดอย่างนั้นและเจตนาทรอดแทรกเข้าไปในเรื่องราวชาดก เพื่อสะกิดเตือนใจคนฟังแหล่ให้เกิดความรักหวงแหนประเทศชาติ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาถึงผลงานมหากาพย์ชิ้นสำคัญของท่าน นั่นคือ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”
ส่วนลีลาการแหล่ ยิ่งใกล้จบท่านยิ่งโชว์เสียงร้องลายครู ลากหลบลอยลมเอื้อนขึ้นสูงดึงอารมณ์คนฟังให้เคลิบเคลิ้มสะเทิ้มใจไปกับเรื่องราวก่อนที่องคุลีมาลจะบรรลุเป็นพระอรหันต์
ทำไมท่านเลือกแต่งแหล่เรื่ององคุลีมาล? ถ้าตอบกันแบบตรงๆ ก็เพราะว่าความชอบ แต่เป็นความชอบที่ท่านต้องทำการบ้านอย่างหนักเช่นกัน อย่างน้อยต้องอ่านทบทวน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ซึ่งท่านได้อ้างไว้ในเนื้อร้อง “เรื่องสาวกวิสุทธิสงฆ์ เริ่มจากองค์อรหันต์ทั้งหลาย สังคายนาอย่างแยบคาย ในพระวินัยและพระสุตตัน” แล้วต้องนำมาแบ่งช่วงแบ่งตอนใหม่ เพื่อสะดวกในการเล่าเรื่องและในการสร้างดนตรีรับร้อง โดยเนื้อร้องท่านเลือกที่จะจบช่วงสำคัญที่สุด คือองคุลีมาลเจอพระพุทธเจ้าแล้วฟังเทศนาเสร็จสำเร็จพระอรหันต์ ทั้งที่ในพระไตรปิฎกฯ ยังมีต่อไปอีกกล่าวถึง อดีตชาติขององคุลีมาล บุพพกรรมของท่านองคุลีมาล ซึ่งผมมองเป็นแง่ดีว่าเป็นการเว้นวรรค ให้คนฟังที่สนใจได้ไปศึกษาต่อด้วยตนเอง

เมื่อผมได้ค้นคว้าวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่ององคุลีมาล เพื่อต่อยอดความรู้จากแหล่ของท่าน ก็พบว่ามีเรื่องราวของอุงคุลีมาลมีอยู่ใน นวนิยายสากล กามนิต (วาสิฏฐี) ตอนที่ ๙ ใต้ดาวโจร, ในพุทธชัยมงคลคาถา (พาหุงฯ), องฺคุลิมาลปริตฺตํ (คาถาคลอดบุตรง่าย) และ พระคาถาชินบัญชร นั่นหมายความว่า เรืององคุลีมาล ที่ท่านหยิบมาเล่าแบบแหล่ เป็นที่นิยมทั้งระดับสากลและระดับพื้นบ้าน เป็นเรื่องราวที่ร่วมสมัย เพราะถ้าพูดถึง “โจรกลับใจ”อย่างองคุลีมาล ทุกวันนี้แม้จะนานๆครั้งก็ยังมีให้เห็นอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์

บทความของ อาจารย์เจนภพ จบกระบวนวรรณ ในคอลัมน์ข้าวเกรียบลูกทุ่ง (http://www.siamdara.com) น่าจะช่วยตอกย้ำให้ แหล่องคุลีมาล ดูมีคุณค่ามากทวีคูณ
“...สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันถึงความใส่ใจในเรื่องทางศาสนาของ พร ภิรมย์ คือความพยายามที่จะถ่ายทอดเนื้อหาสาระเรื่องราวของพุทธประวัติของพระพุทธองค์ ซึ่งได้ใช้ความสามารถอย่างเอกอุ ด้วยเรื่องอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะถ่ายทอดได้ลงตัว แต่ พร ภิรมย์ ทำได้และงดงามอย่างยิ่ง ครบถ้วนทั้งเนื้อหาและแพรวพราวด้วยภาษา เพลงอย่าง ดาวม้า ที่หยิบเอาเรื่องของ กัณฐกะ ม้าทรงที่ได้จุติในวิมานจนกลายเป็น กัณฐกเทพบุตร ท่านก็เอามาดัดแปลงเป็น ดาวม้า เพลงอย่าง จองเปรียง, ดาวลูกไก่, ตำนานพระพุทธบาท, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ องคุลิมาล ล้วนแต่เป็นเพลงที่สรรเสริญและแสดงความเคารพบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสิ้น
เพลง องคุลิมาล เป็นเพลงที่ พร ภิรมย์ หยิบเอาเรื่องของพุทธสาวกมาบรรยายอย่างละเอียดยิบเป็นงานเพลงชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่งที่น่าเผยแพร่ให้กว้างขวางอย่างยิ่ง เพลงนี้เปรียบเสมือนเพชรที่อยู่ในตมแท้ๆ เพราะแทบจะไม่มีใครพูดถึงและนำมาเผยแพร่เท่าที่ควร อาจจะไปยึดติดที่ความยาว เพราะเพลงนี้มีถึง 20 ตอน ใครหน้าไหนจะกล้าเอาไปเปิดเผยแพร่ในรายการวิทยุ จึงเป็นอุปสรรคทำให้เพลงดีๆ เพลงนี้ไม่มีคนรู้จัก ทั้งๆ ที่ป็นเพลงที่สมบูรณ์แบบมากๆ
องคุลิมาล เป็นเรื่องที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี สมัยเด็กๆ ผมก็เคยได้ดูเมื่อตอนเป็น ภาพยนตร์อินเดีย ดูแล้วก็ยังจำฝังใจมาได้จนถึงปัจจุบัน ภาพยนตร์ไทยเองก็ดูเหมือนจะเคยสร้างมาแล้ว ละครโทรทัศน์ไม่แน่ใจว่าเคยหยิบเอามาสร้างหรือไม่ แต่หนังสือการ์ตูนเคยมีวาดเผยแพร่
เรื่องขององคุลิมาลจึงไม่ได้ห่างไกลจากวิถีชีวิตชาวไทยพุทธเลย เป็นเรื่องราวที่ปรากฏในพระสูตรหรือพระธรรมเทศนานั่นเอง สมัยก่อนพระท่านมักชอบหยิบเอามาเทศน์โปรดสัตว์บ่อยๆ เราจึงได้ยินและจำได้มาตลอด อยู่ในพระไตรปิฏก เรียกว่า องคุลิมาลสูตรเป็นพระสูตร 1 ใน 50 ของมัชฌิมนิกายมูลปัณณาสน์สุตตันตปิฏก เรื่องของจอมโจรโหดเหี้ยมขนาดฆ่าคนตายเป็นเบือเพียงเพื่อต้องการสะสมนิ้วมนุษย์ให้ครบพัน แต่ยังกลับใจซึ้งในพระธรรมจนยอมบวชและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในที่สุด.............
ทั้งหมดนี้เป็นอัจฉริยะเฉพาะตัวของ พร ภิรมย์ ท่านเรียบเรียงเองแยกตอนเอง ไม่ได้ลอกใคร ภาษาที่ใช้ต่อให้บัณฑิตอักษรศาสตร์ยังทำไม่ได้”



โศกนาฏกรรมตำนาน “วังแม่ลูกอ่อน”

แหล่วังแม่ลูกอ่อน เป็นการหยิบยกเรื่องราวตำนานพื้นบ้าน ที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับการประพฤติตนผิดประเพณี ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ชิงสุกก่อนห่าม ผลสุดท้ายก็ทนความลำบากไม่ไหว หวังกลับบ้านไปพึ่งพ่อแม่แต่ต้องพบโศกนาฏกรรมอย่างใหญ่หลวง ต้องเสียทั้งลูกสองคนและสามี สุดท้ายตัวเองก็ต้องเสียชีวิตด้วย วังแม่ลูกอ่อน ปัจจุบันอยู่ริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณหมู่ที่ ๔ ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท


ช่วงที่ท่านแหล่แล้วสร้างอารมณ์สะทือนใจอย่างหนักหน่วงจนคนฟังกลั่นน้ำตาไม่อยู่จะค่อยๆเริ่มตรง
“..ฝ่ายเจ้าผัวรึก็เซ่อเซ่อ กระเบอะกระเบ้อทะเร่อทะร่า งกงกเงิ่นเงิ่นออกเดินหายา อนิจจาถูกงูกัดตาย...”
ไปจนจบแหล่
“นางเห็นลูกชายตายอย่างสิ้นหวัง เลยจมสิ้นใจกับลูกใต้วนวัง เดี่ยวนี้ชื่อยังอยู่ริมฝั่งเจ้าพระยา”




นิทานโบราณธงกฐิน “ดาวจระเข้”

ถ้าจะฟังแหล่ดาวจระเข้แล้วได้บรรยากาศถึงใจ น่าจะต้องลองฟังช่วงทอดกฐิน เพราะเป็นแหล่นิทานที่เล่าเรื่องที่มาของธงกฐินรูปจระเข้ กล่าวถึงเศรษฐีผู้หนึ่งเป็นคนขี้เหนียวมากๆ ไม่เคยคิดทำบุญสร้างกุศล

“..กล่าวถึงเศรษฐีผู้มีหลักฐาน ครองศฤงคารหลักฐานถาวร แต่ไม่สละมัจฉริยะ โลโภลาภะไม่ผละผันผ่อน โลภลาภแรงฤทธิ์ไม่คิดตัดรอน ใจเกิดนิวรณ์เดือดร้อนวุ่นวาย..”

นำสมบัติไปฝังไว้ที่หัวสะพานหน้าบ้าน ครั้นตายลงก็เลยต้องมาเกิดเป็นจระเข้เฝ้าสมบัติของตัวเองอยู่ที่หัวตะพาน ได้รับความทุกขเวทนาอดอยากปากแห้ง จึงไปเข้าฝันภรรยา ให้มาขุดสมบัติไปทำบุญกุศล ภรรยาจึงจัดให้มีการทอดกฐินขึ้น จระเข้เศรษฐีนั้นก็บังเกิดความยินดี ว่ายตามขบวนเรือแห่องค์กฐินไป แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดแรงไปต่อไม่ไหว จึงบอกภรรยาให้วาดรูปจระเข้ใส่ในธงไปแทน อานิสงค์ผลบุญกฐินยิ่งใหญ่ทำให้เมื่อจระเข้ตาย ได้ไปเกิดเป็นดาวจระเข้..

“กุมภาผัวว่ายผันผวน ตามขบวนแห่ไปไม่ไหว สุดเหนื่อยเมื่อยเพลียสั่งเมียทันใด จงวาดรูปไปเป็นองค์ประทาน ร่วมตลอดเรื่องทอดกฐิน เมียกรวดน้ำรินแผ่บุญประสาน ขอให้ผัวตนได้ผลบุญทาน พ้นทรมานจากบาปนานา เดชะกุศลผลบุญกฐิน บันดาลกุมภิลผู้ภัสดา ไปเป็นดาวจระเข้ พ้นเวทนา อยู่บนเวหาทุกราตรีเอย”

เชื่อมโยงไปได้อีกว่า การทอดกฐินสมัยโบราณเป็นงานใหญ่ ต้องเตรียมงานกันทั้งคืน พอเช้ามืดเห็นดาวจระเข้(กลุ่มดาวจรเข้หรือดาวหมีใหญ่ : Ursa Major) ขึ้นชัดถือว่าเป็นฤกษ์ดี เขาก็เคลื่อนองค์กฐินไปกันทางเรือ พอไปถึงวัดก็สว่างพอดิบพอดี ต่อมาจึงมีผู้คิดทำธงจรเข้คาบดอกบัวประดับองค์กฐินให้สวยงามรวมทั้งประดับบริเวณวัดเป็นเครื่องหมายว่าวัดนี้มีผู้จองกฐินหรือทอดกฐินแล้ว




เศรษฐีอนาถา ธรรมะขั้นปรมัตถ์

เรื่องราวแหล่เศรษฐีอนาถาเล่าถึง ลูกชายเศรษฐีที่แสนโชคดีพ่อแม่เสียชีวิตก็ได้รับมรดกมากล้น แต่ด้วยไม่รู้จักใช้ทรัพย์ในทางที่ถูกที่ควร คบเพื่อนชั่ว สำมะเลเทเมา ท้ายสุดชีวิตก็ต้องกลายเป็นขอทาน นับเป็นผลงานชิ้นหนึ่งที่แสดงความเอกอุของท่าน(พระพร ภิรมย์) ไว้อย่างแจ่มแจ้ง ด้วยเนื้อหาแหล่ที่หยิบนิทานคถา มาเล่าแบบชาวบ้านฟังง่ายเข้าใจสบาย แต่อาจไม่ธรรมดาหากผู้ฟังมีฐานความรู้ธรรมมะหรือเป็นนักปราชญ์จะต้องนำบทกลอนของท่านไปขบคิดไตร่ตรองให้ปัญญาแตกฉาน ..บางครั้งท่านหยิบเอาคำพระภาษาบาลี-สันสฤตมาขยายแปลไทยให้เข้าใจความหมาย แต่ในบางทีท่านเลี่ยงใช้สุภาษิตหรือภาษาไทยง่ายๆไม่ต้องแปลความกันให้เสียเวลา หากมองในแง่ของมุตโต หรือด้นกลอนแหล่แล้วถือว่าชั้นเชิงแพรวพราวมาก จะเลือกหยิบอะไรมาใส่ก็ได้ดังใจเพราะแม่นทั้งภาษาพระและภาษาชาวบ้าน ดังที่จะหยิบธรรมะบางส่วนมาตีความเพื่อให้ผู้อ่านได้ร่วมอัศจรรย์ใจในความเป็นอัจฉริยะของท่าน

“ท่านผู้ฟังจงนั่งนานๆ ฟังเสียงกล่าวขานนิทานกถา พระปรมัตถ์ตรัสสอนว่า คนเราเกิดมาก็เพราะกรรม ว่ากุศลาธรรมา
มนุษย์เกิดมาโดยอุปถัมภ์ ไม่ต้องลำบากและตรากตรำ เช้ายันค่ำฉ่ำชื่นใจ อกุศลาธรรมา ยามเกิดมาก็ยากไร้...”

พระปรมัตถ์ คือ ความหมายที่แท้จริงสูงสุด (ปรม=แท้จริง,สูงสุด กับคำว่า อัตถะ = ความหมาย,ประโยชน์)
กุศลาธรรมา คือ ธรรมอันเป็นกุศล (ศีล 5-สมาธิ-ปัญญา นำให้ไปเกิดในสุคติภพ คือโลกมนุษย์-สวรรค์-พรหมได้)
อกุศลาธรรมา คือ ธรรมอันเป็นอกุศล (ผิดศีล 5 นำให้ไปเกิดในทุคติภพ คือ สัตว์นรก-เปรต-อสุรกาย-สัตว์เดรัจฉานได้)
ซึ่งอยู่ในพระอภิธรรม ธรรมะขั้นสูง กล่าวถึงเรื่องของ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน
ขึ้นต้นว่า “กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา อัพยากะตา ธัมมา...”
ส่วนคำต่อท้ายที่ท่านไม่ได้บรรจุไว้ในแหล่ที่ว่า อัพยากะตา ธัมมา หมายถึง ธรรมอันไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป เป็นกลางๆ…

“...เพราะรู้ไม่ทันสมุทัย อยากดับไฟแต่ใส่น้ำมัน อวิชชามาอุ้มโอบ หลงโกรธโลภปิดสวรรค์ หลงว่าดีตะบี้ตะบัน เพราะรู้ไม่ทันสมุทโย ดังลูกเศรษฐีมั่งมีมากมาย พ่อแม่ก่อนตายมอบหมายมากโข วัวควายช้างม้าไร่นาสาโท บ้านช่องใหญ่โตแต่กลับลืมตน เริ่มกินเหล้าแล้วเข้าบ่อน ซุกซนซอกซอนด้วยอกุศล”...
สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ อยู่ในอริยสัจ 4 ..คุ้นดีเพราะต้องท่องจำแบบทฤษฎีในวิชาศีลธรรม สมัยเรียนชั้นประถมศึกษา
อวิชชา หมายถึง ความไม่รู้ความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ โดยถูกต้องแจ่มแจ้ง ในอริยสัจ คือ ไม่รู้ในทุกข์, ในเหตุเกิดทุกข์(สมุทัย), ในความดับทุกข์(นิโรธ) และในข้อปฏิบัติสำหรับดับทุกข์(มรรค) แต่คนไทยมักคุ้นและเข้าใจว่า อวิชชา เป็นเรื่องเรียนรู้เกี่ยวกับไสยศาสตร์
โลภ โกรธ หลง เป็นมูลรากที่เรียกกันว่า อกุศลมูล เมื่อ ๓ อย่างนี้ หรืออย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็จะทำให้ความชั่วอื่น ๆ ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดมีอยู่แล้วเจริญยิ่งขึ้น เป็นคำที่คนไทยติดปากเวลาคนอื่นคิดไม่ดีก็มักจะพูดเชิงตำหนิว่า “อย่าคิดอกุศล”

“...อเสวนา จ พาลานัง อย่าพึงตามหลังพวกอกุศล ปากอย่างใจอย่างพรางหลุมตน เพื่อนกินมากล้นเพื่อนตายไม่มี...”


อเสวนา จ พาลานัง ไม่คบคนพาล อยู่ในมงคลชีวิต 38 เช่นเดียวกับ...ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ควรคบบัณฑิต แต่ท่านแหล่แปลเป็นไทยแบบอัตโนมัติว่า “...คำโบราณกล่าวขานให้คิด คบบัณฑิตไม่ผิดวิถี บัณฑิตจะพาไปหาความดี...”


“...เหมือนทัพพีที่เขาเอาคน หม้อแกงจนเหยียดหักไป ไม่เคยรู้รสสักหยดเดียว เค็มมันหวานเปรี้ยวจะเป็นไฉน เพราะอวิชชาติดหนานอกใน บังตาบังใจให้หลงเลือน…”

ช่วงแหล่ที่ว่า ทัพพีไม่รู้รสแกง เป็นช่วงสำคัญที่สุด ฟังดูเผินๆ อ่านแบบเพลินๆ นึกว่าท่านหยิบเอาเรื่องราวของชาวบ้านมาเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องราวในอรรถกถา เรื่องพระอุทายีเถระ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ ๕ ข้อ ๑๕

“ยาวชีวมฺปิ เจ พาโล ปณฺฑิตํ ปยิรุปาสติ น โส ธมฺมํ วิชานาติ ทพฺพี สูปรสํ ยถา.”
แปลไทยว่า “ถ้าคนพาล เข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตอยู่ แม้จนตลอดชีวิต, เขาย่อมไม่รู้ธรรม เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกงฉะนั้น”




สัจจะความซื่อสัตย์ของ “นกกระจาบ”

นกกระจาบเป็นแหล่ที่ท่าน(พระพร ภิรมย์) นำเค้าโครงมาจาก ปัญญาสชาดก ตอน สรรพสิทธิชาดก เล่าถึง
ครั้งเมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกกระจาบนั้น ได้อาศัยอยู่กับลูกเมียในป่า วันหนึ่งนกกระจาบผัวออกไปหากินในดอกบัว จนค่ำมืด จึงถูกหุบขังไว้ในดอกบัวนั้น บังเอิญไฟไหม้ป่าและลูกนกตายในกองไฟหมด เมื่อนกกระจาบผัวกลับมาในตอนเช้า นกกระจาบเมียซึ่งบังเกิดความเสียใจด้วยเข้าใจผิด จึงตั้งสัจะอธิษฐานว่าหากเกิดมาอีกชาติหน้าจะไม่ยอมพูดกับชายใด แล้วกระโดดเข้ากองไฟ ส่วนนกกระจาบผัวก็อธิษฐานขอเกิดมาชาติต่อไปให้ได้เป็นคู่ครองกันอีก พร้อมทั้งกระโดดเข้ากองไฟตาม..นับเป็นโศกนาฏกรรมไม่แพ้แหล่ วังแม่ลูกอ่อน เลยทีเดียว


“...พ่อนกกลับชาติ ด้วยใจอาวรณ์ เป็นสรรพสิทธิ์ มิ่งมิตรกุมาร แม่นกนงคราญ เป็นสุวรรณเกสร…”


ชาติต่อมาพ่อนกก็เกิดเป็น สรรพสิทธิ์กุมาร ส่วนแม่นกเกิดมาเป็น นางสุวรรณเกสร แหล่นกกระจาบมุ่งเน้นนำเสนอเรื่อง ความซื่อสัตย์ หรือสัจจะของสามีภรรยา พ้องกับหลัก ฆราวาสธรรม หรือธรรมสำหรับผู้ครองเรือน ข้อแรก ที่ว่าด้วยเรื่องสัจจะ



“...ซื่อสัตย์ต่อกัน คงไม่เคลื่อนคลอน มนุษย์ทั้งหลาย หญิงชายโปรดทราบ ดูเยี่ยงนกกระจาบ เป็นอุทาหรณ์ ผัวเดียวเมียเดียว อย่ายุ่งเกี่ยวซอกซอน จะไม่เดือดร้อน ดวงใจเลย”






ลูกเมื่อ 25 น.(นาฬิกา) ปัญหาสังคม น.(หน้า) 1

ชื่อเพลง “ลูกเมื่อ 25 น.” เหมือนเป็นคำจำกัดความที่สร้างสรรค์ล้ำยุค เพราะเวลาทั่วไปมีแค่ 24 น.(นาฬิกา) สร้างจินตนาการให้คนฟังได้คิดต่อว่าหมายถึงเวลาเท่าไหร่กันแน่ (ใช่ ตีหนึ่งหรือเปล่า?) แล้วลูกที่ว่านั่นเป็นลูกใครกัน?

“เรื่องจริงๆ ใช่อิงนิยายอ้างข่าว ศีลธรรมเสื่อมเซาจนแทบหมดเงาจรรยา...”

เรื่องราวปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น เป็นข่าวหน้า 1 มาตั้งแต่ในอดีตนานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และไม่มีที่ท่าว่าจะลดลงได้ก็คือ เรื่องคลอดลูกแล้วทิ้ง...นับเป็นแหล่ที่ท่าน(พระพร ภิรมย์)แต่งเกาะกระแสสังคมอย่างใกล้ชิด ใช้ตัวท่านเองเป็นผู้เดินเรื่องร่วมเหตุการณ์ ว่าไปพบเด็กทารกถูกทิ้งใต้ต้นจันทน์ข้างบ้าน ใกล้ช่วงเช้ามืด เลยเก็บมาเลี้ยงเป็นลูก......

“...แต่สงสัยแท้พ่อแม่เป็นใคร เป็นคนที่ไหนใจร้ายเหลือทน ช่างทิ้งลูกได้หนอใจคน รับรองไม่พ้นอเวจี ชอบสนุกชิงสุกก่อนห่าม ชั่วครู่ชั่วยามทรามบัดสี ปล่อยใจกระเจิงเหลิงโลกีย์ ให้คิดให้ดีตามใจตน โลกนี้อาบใจหยาบคาย สิ้นความอายอกุศล...”
เนื้อหาแหล่ก็ยังไม่ทิ้งเรื่องคติธรรมมะสอนใจให้คนฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชิงสุกก่อนห่าม คลอดลูกแล้วทิ้ง ...และมาปิดท้ายแหล่คลายเครียดด้วยอารมณ์ขันว่า หมอพร (ภิรมย์) ต้องหาทุนซื้อนมเลี้ยงลูก

“...แล้วเดือดร้อนใครแม่เจ้าประคุณ คิดสั้นๆ น่าสั่นเศียร ต้องไปพึ่งหมอเพียร เวชบุลย์ หมอเพียรท่านดีเพราะมีทุน หมอพรสิคุณต้องหาทุนซื้อนม”


หมอเพียร เวชบุลย์ หรือ พญ.ดร.คุณหญิงเพียร เวชบุลย์ที่ท่านกล่าวถึงในสมัยนั้นถือว่ามีชื่อเสียงมาก คุณหมอเพียร ได้รับการขนานนามว่าเป็น “แม่พระ” แห่งสังคมไทย ชีวิตที่ต่อสู้เลือดตาแทบกระเด็น เพื่อเด็กกำพร้าและผู้ต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีแห่งกุลสตรีไทย




พ่อกับแม่ แหล่ให้ลูกรู้จักกตัญญู

พ่อกับแม่ เป็นแหล่เพลงหนึ่งของท่าน(พระพร ภิรมย์) ที่หมอทำขวัญนิยมนำมาร้องขั้นเวลาทำขวัญนาค แต่จริงๆแล้วคนที่เป็นลูก สามารถฟังแหล่นี้ได้ทุกเวลา และถ้าได้(สำ)นึกตามแล้วเกิดปัญญาย่อมเกิดอานิสงค์ผลดีทุกเมื่อ

“...ถ้าเป็นลูกชายแม่หมายให้บวช พากเพียรเรียนสวดรักศาสนา รู้หลักปักมั่นกตัญญุตา ได้ห่มกาสาแทนค่าน้ำนม
ถ้าเป็นลูกสาวแม่กล่าวจัดการ ให้เป็นแม่บ้านหลักฐานเหมาะสม เรือน 3น้ำ4ประเพณีนิยมแม่รักอบรมด้วยความอาลัย...”

เนื้อของของแหล่ พ่อกับแม่ มีจุดมุ่งหมายให้ลูกทั้งหญิงชายควรรู้จักทดแทนบุญคุณกตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดู ซึ่งความกตัญญูนั้น อยู่ในมงคลชีวิต 38 ข้อที่ 25 กตญฺญุตา (กะตัญญุตา) คือ กตัญญูต่อบุคคลได้แก่ บิดามารดา ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ เป็นต้น บุญคุณที่ว่านี้ไม่ใช่ว่าตอบแทนกันแล้วก็หายๆกันไป แต่ต้องรำลึกถึงพระคุณที่เคยให้ความอุปการะแก่เราด้วยความเคารพ





ใจพ่อใจแม่ ลูกชั่วอย่างไรก็ตัดไม่ลง
เมื่อฟังแหล่ พ่อกับแม่ จบลงแล้วควรต่อเนื่องด้วยแหล่ “ใจพ่อใจแม่” เพราะมีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกันและไม่หนีข้อธรรม เรื่องความกตัญญู กล่าวถึง พ่อแม่มีลูกชายสี่คน ทนอดทนยาก เลี้ยงดูส่งเสีย ให้ร่ำเรียนจนมีหน้าที่การงาน ครอบครัวมั่นคง

“...แต่ลืมพ่อแม่ทิ้งแกยากจน ลูกทั้งสี่คนไม่คิดถึงคุณ ลูกทั้งสี่มีความสุข พ่อแม่มีทุกข์นอนตามใต้ถุน แกต้องขอทานที่บ้านใจบุญ พอเป็นทุนเลี้ยงอาตมา…”

แต่ไม่คิดเลี้ยงดูพ่อแม่ที่แก่ชราปล่อยให้ไปขอทาน ไม่มีที่ซุกหัว ท้ายสุดจะไปขอลูกพักหลบนอน ถูกลูกและลูกสะไภ้ไล่ด้วยความรังเกียจ
“...แต่พวกลูกกลับปฏิเสธ แถมไล่เฉดว่าไปให้พ้น แสร้งไม่ไยดีทั้งสี่คน กลับช่วยเมียตนไล่ขอทาน ความงันงกเลยตกบันไดถึงคอหักตายราวปาฏิหาริย์ แกเห็นลูกชายแกต้องวายปราณ สองขอทานต้องย้อนกลับมา กอดศพลูกแล้วร้องไห้ สุดเสียดายลูกหนักหนา ลูกชั่วอย่างไรก็ไม่โกรธา บิดรมารดาตัดลูกไม่ลง...”



ลูกโจรเปลี่ยนใจ ลูกไม้ที่กลายพันธุ์(ดี)


แหล่ลูกโจรเปลี่ยนใจ น่าจะเป็นแหล่ที่ 3 หลังจากที่ได้ปูพื้นฟังแหล่ พ่อกับแม่ และ ใจพ่อใจแม่ มาแล้ว
เนื้อหาท่านว่า(พระพร ภิรมย์)นำมาจากเรื่องจริง ของลูกโจรคนหนึ่งที่หลังจากพ่อถูกฆ่าตาย มีจิตคิดได้ว่า ควรเปลี่ยนแปลงชีวิต ไม่ใช่ว่าพ่อเป็นโจรแล้วลูกต้องเป็นโจรเสมอไป หรือลูกไม้จะกลายพันธุ์เป็นพันธุ์ดีไม่ได้เชียวหรือ จึงอยากบวชพระแทนคุณบิดามารดา

“...ส่วนลูกชายเริ่มได้คิด ถึงเรื่องชีวิตพ่อม้วยมรณ์ จึงขอล้างใจครองไตรจีวร ให้มารดรเริ่มจัดการ ซื้อผ้าไตรจีวระพร้อมอัฐบริขาร โกนหัวเข้าวัดรีบจัดการ ท่านสมภารบรรพชา สมภารพระไม่ปฏิเสธ ผู้สวดจัดเสร็จด้วยมุทิตา...”

ตามความเชื่อของชาวพุทธโดยทั่วไปแล้ว บิดามารดาก็จะได้รับผลบุญจากการบวชของลูก หากจากโลกนี้ไปวิญญาณของบิดามารดา จะได้จับชายผ้าเหลืองของลูกขึ้นสวรรค์ คล้ายกับเหตุการณ์ของลูกโจรที่เล่าผ่านแหล่นี้

“...ให้นาคยกหัตถ์ไหว้พัทธสีมา พอนาควันทาก็เกิดเหตุทันที พบผีพ่อที่คอขาด เลือดไหลสาดธรณี ขื่อคาหนามคมฝังจมกายี มองเป็นที่น่าเวทนา นาคร้องไห้ไหว้ผีพ่อ คาหนามคอที่ทรมา กลับหลุดกระเด็นกลายเป็นมาลา ให้ลูกยาแล้วพ่อหายไป
พระลูกชายพอได้เป็นพระ ก็เรียนธรรมะด้วยจิตสดใส กรณีอย่าบิดให้ผิดหลักใน กรรมฐานชงใจวิปัสสนา เดชะกุศลมหาศาล ท่านทราบในทานใจท่านหรรษา ว่าพบวิมานวิญญาณบิดา มิได้ถูกทรมาอยู่ในอบาย…”

อานิสงส์ ของการได้บวชพระมี 3 อย่างคือ 1.ตัวผู้บวชเอง 2.ผู้มีบุญคุณทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้น และ
3.ตัวพระศาสนา ที่สำคัญต้องบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ถึงจะได้รับผลจริง ไม่ใช่แค่บวชไปตามประเพณี หรือบวชแค่ให้พ่อแม่สบายใจเท่านั้น




แหล่ใจโจร ให้ทุกข์แก่ท่านทุกนั้นถึงโจร

เขาบอกว่าโจร อย่างไรเสียก็ย่อมเป็นโจรอยู่วันยังค่ำ ไม่รู้จักบุญหรือแทนคุณผู้ใด ในแหล่ใจโจรนี้เล่าว่า แม้กระทั่งลูกสาวเศรษฐีอุตส่าช่วยเหลือพ้นโทษทัณฑ์ แถมโจรยังได้ลูกสาวเศรษฐีเป็นภรรยาเสียด้วย ชาตินี้ถ้าทำดีไม่มีอด

“ลูกสาวเศรษฐีศรีโสภา เกิดเมตตาโจรอาธรรม์ ด้วยบุพเพสันนิวาส แหล่งสวาทถวิลสวรรค์ ติดสินบนโจรพ้นโทษทัณฑ์ จนได้กันโดยแรงกรรม นางรักโจรจนหมดใจ แต่โจรไพรให้เห็นขำ ด้วยสันดานอันระยำ ขาดศีลธรรมไม่รักเมีย

แต่สันดานความโลภไม่สิ้นสุด โจรจึงหลอกภรรยาไปฆ่าที่เทวาลัยเชิงหน้าผา ....
“...ลวงเมียขึ้นเทวาลัย เผลอเมื่อใดจะฆ่าเสีย เพียงชื่นชมสมบัติเมีย ทำคลอเคลียเดินเคล้าคลึง
เห็นเมียเผลอชักมีดผาง สงสารนางคาดไม่ถึง ยืนตระหนกตกตะลึง เพียงพักหนึ่งก็เกิดปัญญา”
ภรรยาบอกสามีผู้เป็นชั่วว่า ไหนๆก็จะตายแล้ว ขอร่ายรำโชว์ลีลาไว้ให้ดูเป็นอนุสรณ์…
“...นางสะอื้นสำออยอ้อน ว่าช้าก่อนเถอะผัวขา ขอร่ายรำร่ำเรียนมา เป็นขวัญตาผัวก่อนตาย โจรกักขฬะอนุญาต ให้นางนาฎเริ่มรำร่าย นางร้องรำทำลวดลาย โจรเผลอกายโดยถูกกล ถูกนางผลักตกภูผา ร่างโจราแหลกปี้ป่น ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตน จบเรื่องใจโจรคงต้องขอจร
แล้วโจรชั่วก็ถูกกำจัด บทสรุปของแหล่นี้คือ ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว




จันทโครพ “รักเดียวใจเดียว”

แหล่รักเดียวใจเดียว เป็นการเล่านิทานพื้นบ้านจันทโครพ “...เปิดพระอบ พบทางโมรา” ซึ่งเรื่องยอดฮิตที่ชาวบ้านลูกเด็กเล็กแดงรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือช่วงท้ายท่าน(พระพร ภิรมย์) ต่อว่าพระฤษีอาจารย์ไว้อย่างเฉียบคม น่าจะจุดประกายความคิดให้ครูบาอาจารย์ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกยุคทุกสมัย

“ต้องโทษฤๅษีอวดมีฤทธิ์ เนรมิตไม่พิถันพิถี ศิษย์จะกลับโดยทันที สร้างนารีไม่ทันอบรม จึงขาดความคิด เรื่องผิดและชอบ เบี่ยงระบอบไม่เหมาะสม ชั่วดีสันดาน นั้นอยู่ที่การอบรม เช่นสังคมปัจจุบัน เยาวชนคนของชาติ โง่ฉลาดขี้เกียจขยัน อยู่ที่การอบรม บ่มใจกัน ไม่ใช่สวรรค์ จะบันดาลใคร

แล้วมาขมวดเชื่อมจบเรื่องรักเดียวใจเดียว ตามหลักฆราวาสธรรม-สัจจะ และศีลห้าอย่างแนบเนียน

“...อีกทั้งฝนตก อย่าเพิ่งเชื่อดาว ใครมีเมียสาวสาว อย่าเพิ่งไว้ใจ ถ้าเมียนอกจิตไปคิดมีชู้ เขามาบอกให้เรารู้ ไปเสียเมื่อไหร่ ผมรักเดียวใจเดียว ผมไม่เกี่ยวเมียใคร แต่ขอเตือนใจ เอาไว้หน่อยเอย”
แหล่กระต่ายตื่นตูม นิทานอีสป
แหล่กระต่ายตื่นตูม ท่าน(พระพร ภิรมย์)แต่งว่าได้มาจากเค้าโครงจากนิทานอีสป นักเล่านิทานอีสป เป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริงเมื่อราวปี 620-560 ก่อน ค.ศ.หรือก่อนสมัยพุทธกาลเล็กน้อย ตัวละครในนิทานของอีสปส่วนใหญ่เป็นสัตว์สาราสัตว์ ผู้รู้หรือนักปราชญ์สันนิษฐานว่า นิทานของเขาได้เค้าโครงมากจากเรื่องเล่าเก่าๆของอินเดียบ้าง อาระเบียบ้าง หรืออาจมาจากเปอร์เซีย ของกรีกและดินแดนอื่นๆ ซึ่งเขานำมาดัดแปลงเล่าใหม่
เช่นเดียวกับเรื่องกระต่ายตื่นตูม เป็นนิทานอีสปเรื่องที่คุ้นเคยกันอย่างดีตั้งแต่สมัยเด็กที่ผู้ใหญ่เล่าว่า... ในป่าใหญ่แห่งหนึ่งฝูงสัตว์กำลังหาอาหารมีความสุขสำราญ ทันใดนั้นก็มีเสียงตูม และกระต่ายน้อยตัวหนึ่งวิ่งหน้าตาตื่น มาบอกเหล่าสัตว์ว่า ฟ้าถล่มๆ ให้ทุกตัวรีบหนี สัตว์ทั้งหลายได้ฟังก็ตกใจพากันวิ่งหนีกันวุ่นวายจนมาเจอราชสีห์ แล้วราชสีห์ก็ให้กระต่ายพาไปดูที่เกิดเหตุ จึงพบว่าเสียงตูมนั้นเป็นเสียงของลูกตาลตกลงมาจากต้น…
แต่กระต่ายตื่นตูม ยังมีอยู่ในทัทธภายชาดก เล่าว่าครั้งสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภเดียรถีย์หรือนักบวชนอกศาสนา ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ซึ่งเนื้อเรื่องคล้ายคลึงกับนิทานอีสปมาก อาจเป็นเพราะช่วงเวลาและสถานที่ใกล้เคียงกัน ส่วนเรื่องจะเกิดก่อนกันจะหลังกันก็ไม่สำคัญเท่ากับบทสรุปที่ว่า อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ ต้องเชื่ออย่างมีเหตุผล

“...ลูกตาลหล่นใช่ฟ้าถล่ม อย่าโง่งมเลยสหาย จงทำใจให้สบาย อย่าเชื่อกระต่ายตื่นตูมเอย”



แหล่วัวกับกบ ให้รู้จักประมาณตน
มีแหล่ของท่าน(พระพร ภิรมย์) หลายเรื่องที่นำเนื้อหามาจากนิทานอีสป แต่จะขอยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งคือ วัวกับกบ ซึ่งให้ข้อคิดให้รู้จักประมาณตน ไม่ให้เป็นอย่างพ่อกบที่อวดเบ่งจนท้องแตก เพื่ออวดเก่งให้ลูกเห็นว่าตนเองใหญ่กว่าวัว
“...แล้วจะรู้ว่าพ่อเก่ง พ่อจะเบ่งให้ใหญ่กว่า ลูกดูไว้ให้เต็มตา พ่อใหญ่กว่ามันทุกทาง ลูกกบตอบคำพ่อ ยังไม่พอแม้กกหาง พ่อกบเกร็งเบ่งท้องตาม จนท้องเปิดระเบิดตาย ความไม่รู้จักประมาณ ย่อมถึงกาลแหลกสลาย ดุจพ่อกบจบชีพวายเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์...
ช่วงท้ายของแหล่ ยังขยายความเรื่องการรู้จักประมาณตน พร้อมแทรกคติสอนใจได้อย่างคมคาย

...อันฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ อีกสายน้ำอีกบาดาล ต้องใคร่ครวญคำนวณการ รู้ประมาณรู้ประมวล รู้ทั้งหนักรู้ทั้งเบา ต้องรู้เท่าอย่างถี่ถ้วน รู้การควรและไม่ควร อย่าวิ่งสวนของมีคม รู้แคบนักก็มักคับ ยากขยับจับใส่สม รู้กว้างนักก็มักจม ถมเท่าไหร่ไม่รู้พอ ฟังนิทานแนะแนวทาง ให้กระจ่างใจจดจ่อ อย่าใหญ่เพลินจนเกินพอ เหมือนกบพ่อท้องแตกเอย”




ริมไกรลาศ เรื่องของเสือกับโค


ริมไกรลาศ เป็นแหล่อีกเรื่องหนึ่งที่หยิบยกนิทานมาเล่าทรอดแทรกธรรมมะ โดยเริ่มต้นให้ผู้ฟังได้จินตนาการร่วมสร้างฉากเป็นเขาไกรลาศในป่าหิมพานต์ หรือภูเขาหิมาลัยก่อน

“ขอเริ่มเรื่องเบื้องหลัง ท่านผู้ฟังโปรดทราบ แม้วาดภาพหิมพานต์ เป็นฉากนิทานคำกลอน หิมาลัยปัจจุบัน...”
แล้วจึงเล่าเรื่องว่า มีแม่โคตัวหนึ่งไปหากินในป่าถูกแม่เสือจับได้จะกินเป็นอาหาร แม่โคเลยอ้อนวอนตั้งสัตย์ว่าขอให้กลับไปสั่งเสียลูกน้อยเสก่อนแล้วจะกลับมาให้กิน .. เสือก็ดีเชื่อในสัจจะปล่อยให้แม่โคไปร่ำลา

“...เราเป็นสัตว์มีศีล ไม่เล่นลิ้นหลอกหลอน เรามีลูกรักเหลือ เหมือนแม่เสือรักลูก คิดฝังปลูกปรานี เราต่างก็มีลูกอ่อน พยัคฆ์ใหญ่ได้ฟัง เห็นจริงจังสัจจะ เลยยอมละหันหลัง ให้โคไปสั่งลูกอ่อน...”

ลูกโคยอดกตัญญูเมื่อได้ฟังแม่โคเล่าเรื่องราวทั้งหมด ก็รับอาสาจะไปให้เสือกินแทน..แม่ก็ไม่ยอม ลูกก็ไม่ยอม เลยเดินไปหาแม่เสือพร้อมกัน

“...แม่โคถือใจสัจจะ ลูกโคก็กตัญญู วิ่งตามแม่มาสู่ ที่เสือยืนอยู่อ้อนวอน แม่เสือขาอย่าแค้น ข้าขอตายแทนแม่ข้า ข้าถือมั่นกตัญญุตา แม่เสือจงอย่าเคืองค้อน...”

แม่เสือตื้นตันใจในความกตัญญูของลูกโค และปลื้มใจในความซื่อสัตย์หรือสัจจะของแม่โค เสือโคร่งเกิดขันติความอดทนระงับยับยั้งไม่กินสัตว์ทั้งสอง โดยรวมล้วนเป็นธรรม 4 ประการได้แก่ สัจจะ ซื่อสัตย์, ทมะ ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจขันติ อดทน, จาคะ เสียสละ ในฆราวาสธรรม

“...แม่เสือใหญ่ได้คิด เลยหักจิตปลงตก นึกเห็นอกแม่โค ว่าโอ้โอ๋ลูกอ่อน กลับเสียเถอะคืนถิ่น เราไม่กินเจ้าแน่ ทั้งลูกแม่โคป่า เราขอลาเจ้าก่อน อานิสงส์อะไร เสือจึงไม่กินโค ใช่จะโง่ไม่กิน เสือกลับมีศีลสังวรณ์ สัตว์บางตัวกลัวบาป มนุษย์ไม่ทราบใจสัตว์ รู้จักผลัดหนักเบา ไม่เหมือนคนบางเหล่าศีลกร่อน”





กาพย์เห่เรือ “ชมไม้-ชมนก” แรงบันดาลใจก่อเกิด แหล่ “ชมดง”

กาพย์เห่เรือ “ชมไม้”
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์(เจ้าฟ้ากุ้ง)

เรือชายชมมิ่งไม้ ริมท่าไสวหลากหลายพรรณ
เพ็ดดอกออกแกมกัน ส่งกลิ่นเกลี้ยงเพียงกลิ่นสมร
ชมดวกพวงนางแย้ม บานแสล้มแย้มเกสร
คิดความยามบังอร แย้มโอษฐ์ยิ้มพริ้มพรายงาม
จำปาหนาแน่นเนือง คลี่กลีบเหลืองเรืองอร่าม
คิดคะนึงถึงนงราม ผิวเหลืองกว่าจำปาทอง
ประยงค์ทรงพวงห้อย ระย้าย้อยห้องพวงกรอง
เหมือนอุบะนวลละออง เจ้าแขวนไว้ให้เรียมชม
พุดจีบกลีบแสล้ม พิกุลแกมแซมสุกรม
หอมชวยรวยตามลม เหมือนกลิ่นน้องต้องติดใจ
สาวหยุดพุทธชาด บานเกลื่อนกลาดดาษดาไป
นึกน้องกรองมาลัย วางให้พี่ที่ข้างหมอน
พิกุลบุนนาคบาน กลิ่นหอมหวานซ่านขจร
แม้นนุชสุดสายสมร เห็นจะวอนอ้อนพี่ชาย
เต็งแต้วแก้วกาหลง บานบุษบงส่งกลิ่นอาย
หอมอยู่ไม่รู้หาย คล้ายกลิ่นผ้าเจ้าตราตรู
มะลิวัลย์พันจิกจวง ดอกเป็นพวงร่วงเรณู
หอมมาน่าเอ็นดู ชูชื่นจิตคิดวนิดา
ลำดวนหวนหอมตรลบ กลิ่นอายอบสบนาสา
นึกถวิลกลิ่นบุหงา รำไปเจ้าเศร้าถึงนาง
รวยรินกลิ่นรำเพย คิดพี่เคยเชยกลิ่นปราง
นั่งแนบแอบแอวบาง ห่อนแหห่างว่างเว้นวัน
ชมดวงพวงมาลี ศรีสาวภาคย์หลากหลายพรรณ
วนิดามาด้วยกัน จะอ้อนพี่ชี้ชมเชย


กาพย์เห่เรือ “ชมนก”
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์(เจ้าฟ้ากุ้ง)

เรื่อยเรื่อยมารอนรอน ทิพากรจะตกต่ำ
สนธยาจะใกล้ค่ำ คำนึงหน้าเจ้าตราตรู
เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง นกบินเฉียงไปทั้งหมู่
ตัวเดียวมาพลัดคู่ เหมือนพี่อยู่ผู้เดียวดาย
เห็นฝูงยูงรำฟ้อน คิดบังอรร่อนรำกราย
สร้อยทองยิ่งเยื้องชาย เหมือนสายสวาทนาดนวยจร
สาลิกามาตามคู่ ชมกันอยู่สู่สมสมร
แต่พี่นี้อาวรณ์ ห่อนเห็นเจ้าเศร้าใจครวญ
นางนวลนวลน่ารัก ไม่นวลพักตร์เหมือนทรามสงวน
แก้วพี่นี้สุดนวล ดั่งนางฟ้าหน้าใยยอง
นกแก้วแจ้วแจ่มเสียง จับไม้เรียงเคียงคู่สอง
เหมือนพี่นี้ประคอง รับขวัญน้องต้องมือเบา
ไก่ฟ้ามาตัวเดียว เดินท่องเที่ยวเลี้ยวเหลี่ยมเขา
เหมือนพรากจากนงเยาว์ เปล่าใจเปลี่ยวเหลียวหานาง
แขกเต้าเคล้าคู่เคียง เรียงจับไม้ไซ้ปีกหาง
เรียมคะนึงถึงเอวบาง เคยแนบข้างร้างแรมนาน
ดุเหว่าเจ่าจับร้อง สนั่นก้องซ้องเสียงหวาน
ไพเราะเพราะกังวาน ปานเสียงน้องร้องสั่งชาย
โนรีสีปานชาด เหมือนช่างฉลาดวาดแต้มลาย
ไม่เท่าเจ้าโฉมฉาย ห่มตาดพรายกรายกรมา
สัตวาน่าเอ็นดู คอยหาคู่อยู่เอกา
เหมือนพี่ที่จากมา ครวญหาเจ้าเศร้าเสียใจ
ปักษีมีหลายพรรณ บ้างชมกันขันเพรียกไพร
ยิ่งฟังวังเวงใจ ล้วนหลายหลากมากภาษา


แหล่ชมดง นับเป็นอีกผลงานหนึ่งที่ท่าน(พระพร ภิรมย์) น่าจะได้รับแรงบันดาลใจหรืออิทธิพลมาจากกาพย์เห่เรือ “ชมไม้และชมนก” ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์(เจ้าฟ้ากุ้ง) โดยนำมาต่อยอดเชิงสร้างสรรค์อย่างวิจิตรบรรจง

ส่วนตอนท้ายได้ทรอดแทรกเรื่องของนิวรณ์ ธรรมะที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี ประกอบด้วย กามฉันทะ พอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบ, พยาบาท ปองร้ายผู้อื่น,ถีนมิทธะ ความมีจิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม, อุทธัจจกุกกุจจะ ฟุ้งซ่านและรำคาญ และวิจิกิจฉา ลังเลไม่ตกลงใจได้ ไว้กับเรื่องราวของนกกาเหว่าอย่างแนบเนียน

โลกนี้อนิจจังอย่าหวังนึกแน่ ไม่เที่ยงไม่แท้ย่อมแปรเปลี่ยนไป
กาเหว่าอดหว้าเหมือนดังข้าหมดหวัง วิมานรักพังพลาดพลั้งแพลงไพล่
ต้องใช้ธรรมะชำระบั่นรอน มิให้นิวรณ์มากร่อนจิตใจ
เหมือนข้าวหนีเคียวไม่เกี้ยวหญิงใด ไม่ขอช้ำใจเช่นกาเหว่าเอย





หลวงพ่อพร ภิรมย์เป็นแนวทางสำคัญให้กับศิลปินรุ่นใหม่ ในการสร้างสรรค์ต่อยอดผลงาน อย่างมีรากเหง้าความเป็นไทย เพราะท่านไม่ทิ้งวิธีการร้อง การแหล่แบบไทย ไม่ทิ้งการประพันธ์เรื่องราวไทยๆ พร้อมแทรกธรรมมะสาระประโยชน์ ผลงานสร้างสรรค์มากมายกว่า 600 เพลงที่ท่านทิ้งไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้ต่อยอดอย่างไม่รู้จักจบ เป็นการเรียนรู้ธรรมมะอย่างย่นย่อจากศิลปินผู้มีธรรมมะ สำหรับผม หลวงพ่อพร ภิรมย์ท่านเป็น ศิลปินแห่งธรรมะ(ชาติ) นั่นแล
กำหนดการพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ และเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานงานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อพร ภิรมย์ วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม เวลา 17.00 น.