วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

ครูช่างหนังใหญ่บางน้อย โดยคมสันต์ สุทนต์

สงัด ใจพรหม ครูช่างหนังใหญ่บางน้อย
ศิลปินดีเด่น สาขาทัศนศิลป์ จังหวัดสมุทรสงคราม ประจำปี 2542


ข้าไหว้พระเสร็จเรืองฤทธา ทศรถมหา
เป็นเจ้าสำหรับพระธรณี
ไหว้บาทวรนาถจักรี ในพื้นปัถพี
ผู้ใดจะเปรียบปานปูน ……………..
จากบทพากย์ไหว้ครูหนังในสมุทรโฆษคำฉันท์ (ประมาณ พ.ศ. 2200)

ถ้าพูดถึงหนังใหญ่ มหรสพไทยที่ว่ายิ่งใหญ่อลังการอย่างชื่อ ใครหลายคนคงเคยได้ดู ได้รู้ว่ายังพอหาชมได้ในรูปแบบสาธิตที่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี, วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง และวัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี
ใครบ้างจะรู้ว่าที่วัดบางน้อย อำเภอบางคณฑี ก็เคยมีหนังใหญ่เหมือนกัน?

นี่คือที่มาของการตามหาหนังใหญ่ สมุทรสงคราม เป็นการเดินทางที่ไม่ได้นัดหมายล่วงหน้าแต่อย่างใด ตามคำบอกเล่านั้นว่ามีครูช่างท่านหนึ่งใช้ชีวิตวัยเกษียนอยู่ที่บ้านสวนหลังวัดบางน้อย ตอนแรกก็เข้าใจว่าน่าจะอยู่แถวตลาดน้ำบางน้อย ตลาดน้ำที่สงบเงียบเหมาะกับคนที่ไม่ชอบความพลุกพล่าน อยู่ในเขตอำเภอบางคณฑี ห่างจากตลาดน้ำอัมพวาประมาณ 5 กิโลเมตร แต่ก่อนชาวบ้านร้านถิ่นเขาเปิดขายของกันเฉพาะ 3, 8 และ 13 ค่ำ เดี๋ยวนี้เอาใจนักท่องเที่ยวเลยเปิดเสาร์-อาทิตย์ด้วย

พอไปถึงตลาดน้ำบางน้อย สอบถามผู้คนแถวนั้นเขาบอกว่า วัดบางน้อยต้องไปอีกหน่อย ไปเรือก็ได้ ขับรถก็ทะลุสวนเดี๋ยวก็ถึง ตรงนี้เขาเรียก บางน้อยนอก (วัดเกาะแก้ว)ส่วนที่ผมกำลังจะไปนั้นเรียก บางน้อยใน(วัดบางน้อย)

ผมขับรถลัดเลาะสวนผลหมากรากไม้ ขึ้นเส้นถนนใหญ่เข้าซุ้มประตูวัดบางน้อย วัดอยู่ทางขวามือ ส่วนโรงเรียนอยู่ด้านซ้ายมือ ซึ่งยังเป็นอาคารไม้แบบเดิมๆ ใครที่เคยเป็นนักเรียนประชาบาล เห็นแล้วต้องนึกวัยเด็กตอนเรียนประถมฯ สุดเขตอภัยทานต้องข้ามสะพานแคบพอดีรถเล็กข้าม รถใหญ่อย่างสิบล้อหมดสิทธิ์ข้าม กลับเข้าสู่สวนบรรยากาศสวนมะพร้าวผืนใหญ่ ตำบลยายแพง ผมนึกในใจไม่รู้สามีแกชื่อ ตาถูกหรือเปล่า ?.... ถามไถ่หนทางคนแถวนั้นไม่นานนักก็บึ่งมาถึงเป้าหมายยามบ่ายคล้อยจนได้

บ้านไม้ริมคลองตาหลวง ซึ่งฝั่งตรงข้ามเป็นเขตจังหวัดราชบุรี เยื้องกันทางฝากกะโน้น ยังได้ยินเสียงผู้คนในชุมชนตีมีดกันดังเชิ้งชั๊งๆ อย่างกับเสียงประกอบหนังจีนกำลังภายใน คิดว่เป็นดนตรีประกอบจังหวะการแสดงเบิกโรงหนังใหญ่ซะเลย

“วัดบางน้อยแต่ก่อนสมัยหลวงพ่ออยู่ มีหนังใหญ่ราวๆ 30 0 ตัว ตอนสมัยประถมฯ ช่วงพักกลางวันผมกับเพื่อนยังเคยแอบขึ้นไปบนศาลา ไปหยิบหนังใหญ่มาเชิดเล่นเลย หลังหลวงพ่ออยู่มรณะภาพเขาก็เลิกเล่นหนังกันแล้ว แต่น่าเสียดายโดนไฟไหม้ไปพร้อมกับกุฏิศาลา โชคดียังเหลือให้เห็นเป็นบุญตา 10 ตัว ในซากเถ้ากองเพลิง” ครูสงัด ใจพรหม ชายวัย 83 ปี ที่ร่างรายยังแข็งแรงเดินเหินคล่องแคล่ว ขัดแย้งกับตัวเลขอายุ เริ่มต้นเล่าถึงหนังใหญ่ให้ฟังด้วยน้ำเสียงเมตตายิ่งนัก เสมือนว่าผมเป็นศิษย์ หรือลูกหลานคนหนึ่งของท่าน

“ผมเคยไปสำรวจหนังใหญ่หลายที่ อย่างวัดขนอน จังหวัดราชบุรี ตัวหนังส่วนใหญ่เป็นฝีมือช่างท้องถิ่น บางตัวที่มีฝีมือเด่นๆ น่ามาจากช่างของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ (พ.ศ.2406-2490) ซึ่งหลวงปู่กล่อม อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอน(พระครูศรัทธาสุนทร พ.ศ.2391 – 2485) กับหลวงพ่ออยู่ อดีตเจ้าอาวาสวัดบางน้อยเป็นเพื่อนเกจิอาจารย์และมีหนังใหญ่เหมือนกัน แต่ท่านจะเด่นทางด้าน ดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล...

...ที่เพชรบุรี วัดพลับพลาไชย ก็มีตัวหนังใหญ่ แต่ไม่รู้ว่าใครทำ(ช่างสร้างหนังใหญ่) เพราะไฟไหม้ไปหมดแล้วเหมือนกัน และที่อัมพวานี่สมัยก่อนก็มีช่างแกะหนังใหญ่ชื่อนายดี พ่อของครูเอื้อ สุนทรสนาน และที่วัดราษฎร์บูรณะ ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา ก็เคยมีหนังใหญ่ แต่ลูกหลานเจ้าของเดิมเขาขายยกตับทั้งหมดให้ต่างประเทศไปแล้ว..”

ผมเอง(ผู้เขียน)ก็อดสงสัยไม่ได้ทำไมหนังใหญ่ต้องประสบชะตากรรมหรืออาภรรพ์? ไฟไหม้ ไม่งั้นก็ถูกขายทอดต่างประเทศ
หนังใหญ่หนุมาน ว่ายน้ำกลับวัด

“เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น เมื่อตอนที่คณะหนังใหญ่วัดวัดราษฎร์บูรณะฯ เขากลับจากงานแสดงงานหนึ่ง แล้ว
มีหนังตัวหนุมาน ทหารเอกพระรามเกิดพลัดตกน้ำ ในแม่น้ำแม่กลองนี่แหละ งมหาอย่างไรก็ไม่เจอ แต่พอมาถึงวัดฯ หลวงพ่อเจ้าอาวาสบอกว่าหนังใหญ่หนุมานว่ายมาถึงวัดก่อนแล้ว ..สร้างความประหลาดใจให้กับชาวคณะหนังใหญ่ และเป็นเรื่องล่ำลือถึงปาฏิหารย์สืบต่อกันมา”

...วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี ผมก็ไป ได้รู้จักกับเพื่อนต่างวัย ครูวีระ มีเหมือน ศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านหนังใหญ่ และมหรสพไทย เขาอายุอ่อนกว่าเยอะ โน่นเจอกันครั้งแรกตอนประกวด(ต้น)โกศล ตั้งแต่ก่อนที่ผมจะปลดเกษียน คุยกันไปมาก็เลยรู้ว่าชอบพอเรื่องหนังใหญ่เหมือนกัน เขาไปสอนอยู่ที่วัดสว่างอารมณ์

..บ้านพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ของเขา ที่สามโก้ จังหวัดอ่างทอง ผมก็เคยไปติดอยู่ว่าเข้าไปกลางทุ่งนาลึกจังเลย เขาเองก็เอาแบบลายบางชิ้นที่ผมเขียนไปสร้างตัวหนังใหญ่เก็บไว้ที่นั่น” ครูสงัดจะเน้นให้ความสนใจกับงานช่างสร้างตัวหนังใหญ่เป็นพิเศษ เพราะครูไม่ใช่ศิลปินนักดนตรีหรือนักเชิดหนัง แต่เป็นครูช่าง

ถ้าย้อนชีวิตกับไปหลังจากที่ท่านเรียนจบชั้นประถมที่โรงเรียนวัดบางน้อยใน และเรียนมัธยมที่โรงเรียนสายธรรมจันทร์ จังหวัดราชบุรี ก็ได้ไปเรียนต่อทีโรงเรียนเพาะช่าง (วิทยาลัยเพาะช่างในปัจจุบัน) จนจบวุฒิประโยคครูประถมการช่าง สาขาวิจิตรศิลป์ และวุฒิประโยคครูมัธยมการช่าง สาขาประติมากรรม

กลับบ้านมารับราชการในตำแหน่งครูจัตวา ประจำกรมวิสามัญศึกษา พ.ศ.2496 ไปเป็นครูตรีโรงเรียนสกลวิสุทธิ์ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม พ.ศ 2515 ได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์ 2 ระดับ 6 โรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม จนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ 2531

ครูช่างคนนี้ได้สร้างผลงานไว้อย่างมากมาย ที่โดดเด่นคุ้นตากันดี คือ ออกแบบและปั้นรูปเหมือนรัชกาลที่ 5 หรือพระบรมรูปทรงม้า ณ บริเวณ หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม และออกแบบปั้นหุ่นแฝดสยามอิน-จัน ฝาแฝดที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม

นอกนั้นยังมีงานออกแบบและปั้น พระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ที่ค่ายบางกุ้ง, รูปเหมือนเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ วัดบางแคใหญ่, ปราสาทจัตุรมุขหน้าวัดภุมรินทร์กุฎีทอง, อนุสาวรีย์หลวงปู่เหมือน และพระครูสมุทรสุธี วัดกลางเหนือ, พระรูปเหมือน หลวงปู่เอี่ยมวัดปากลัด, ปราสาทจัตุรมุข สำหรับประดิษฐานพระบรมรูปท่านเจ้าคุณ พระราชสมุทรเมธี อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติการาม, พระรูปเหมือนหลวงปู่หอม วัดเหมืองใหม่, ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างลายอุโบสถวัดบางน้อยและศาลาวิหารหลวงพ่ออยู่, ซุ้มทรงไทยจตุรมุข ทางเข้าวัดบางน้อยใน, ซ่อมพระพุทธรูปศิลาแลง จำนวน 5 องค์ ที่ถูกทำลายเสียหายให้อยู่ในสภาพเดิม โดยใช้ปูนตำแบบโบราณ, ปั้นรูปพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อไปประดิษฐานที่จังหวัดตราด เป็นต้น

แล้วครูช่างผู้มีฝีมือในงานปั้นชั้นเยี่ยมยอดอย่างครูสงัด ใจพรหม ทำไมถึงได้มาสนใจงานหนังใหญ่ ?

“หลังจากเรียนเพาะช่าง พบว่าตนเองทำงานทางด้านศิลปะได้ดี โดยเฉพาะลายไทย เพื่อนเห็นก็เอามาให้เขียนให้แก้ มีคนเอามาให้ออกแบบ ปั้นลายบ้าง ก็ทำตั้งแต่นั้นมา แต่หนังใหญ่นี่เป็นเรื่องที่ชอบฝังใจผูกพันธ์กันมาตั้งแต่เด็ก และคิดว่ามันน่าจะเป็นตัวเรามากที่สุด...เลยอยากกลับมาฟื้นชีวิตให้ตัวหนังบางน้อยบ้านผมอีกครั้ง...”
แบ่งอายุหนังใหญ่ตามลวดลายและรอยตอกตุ๊ดตู่

“ผมแบ่งยุคสมัยหนังตามฝีมือครูช่างหนังใหญ่สมัยรัตนโกสินทร์ 3 รุ่นด้วยกันคือ รุ่นแรก พระพรหมวิจิตร ช่วงราวสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งจะมีลวดลายวิจิตรละเอียด ใช้ตุ๊ดตู่ตอกรูไล่เล็กใหญ่ลดหลั่นหลายขนาด, รุ่นสอง พระเทวาภินิมมิต(ฉาย เทียมศิลป์ชัย : พ.ศ.2431-2485) เป็นศิลปินเอกท่านหนึ่งของไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕-๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จะตอกลายตุ๊ดตู่สองชั้น และรุ่นสาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ (พ.ศ.2406-2490) ใช้ตุ๊ดตู่ตัวเดียวตอกเกือบทั้งตัว...
..หนังใหญ่วัดบางน้อย น่าจะเป็นผลงานของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์

ผมพยายามตามหาหนังใหญ่ที่เยอรมัน ติดต่อผ่านไปยังสถานทูตพบว่ามีอยู่จริงประมาณ 300 ตัว ในพิพิธภัณฑ์ประเทศของเขา เจตนาคืออยากขอถ่ายรูป เพื่อจะมาเทียบกับชุดแรกที่โดนไฟไหม้ (วัดบางน้อย? หรือ ที่โรงละครแห่งชาติ ชุดหนังใหญ่ “พระนครไหว”?) แล้วนำมาวาดลาย แกะตัวหนังใหม่เท่านั้นเอง ไม่ได้ไปคิดทวงคืนอะไร แต่เขาไม่อนุญาตให้ไปถ่ายรูป?...ครูสงัดจึงใช้วิธีรวบรวมรวมภาพหนังใหญ่ตามหนังสือหรือโปสการ์ดเก่าๆ

“...จากนั้นมาก็รวบรวมภาพไว้ตั้งแต่ยังไม่ปลดเกษียณ คิดว่าจะอนุรักษ์หนังใหญ่ ทำยังไงดี? มีความคิดที่จะทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ตั้งใจจะเปิด “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น” ขึ้นที่ข้างบ้านผมนี่แหละ เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนให้นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวได้มาดู มาศึกษาหนังใหญ่ แบบไม่ทิ้งรูปแบบดั้งเดิม โดยผมปรึกษาหารือกับลูกศิษย์ลูกหาทุกรุ่นที่เคยสอนเขามาให้ทอดผ้าป่าการศึกษา แล้วจากนั้นให้พวกเขาเป็นผู้จัดการดูแล ถึงถ้าผมไม่อยู่เขาก็สามารถช่วยกันสืบสานดำเนินการต่อได้”
ไม่นานเกินรอนักท่องเที่ยวและผู้สนใจก็จะสามารถเดินทางไปพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ ของครูช่างหนังใหญ่ “สงัด ใจพรหม”

ทนายผู้คอยความ เร่งตามไต้ส่องเบื้องหลัง
จงเรืองจำรัสทัง ทิศาภาคทุกภาย
จงแจ้งจำหลักภาพ อันยงยิ่งด้วยลวดลาย
ให้เห็นแก่ทั้งหลาย ทวยจะดูจงดูดี”
จากบทพากย์ไหว้ครูหนังในสมุทรโฆษคำฉันท์ (ประมาณ พ.ศ. 2200)

ข้อมูลศิลปิน
อาจารย์สงัด ใจพรหม ปัจจุบันอายุ 83 ปี ( สัมภาษณ์ พ.ศ.2554) อยู่บ้านเลขที่ 31 หมู่ 2 ต.ยายแพง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ภรรยาชื่อ นางบุญเยื่อ ใจพรหม ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ มีบุตรสาว 2 คน

บรรณานุกรม
เสรี มั่นมาก. เปิดกรุนักประติมากรรม เมืองแม่กลองผู้ที่ปิดทองหลังพระ ตลอดกาล. หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม 2550

สัมภาษณ์
สงัด ใจพรหม, ศิลปินดีเด่น สาขาทัศนศิลป์ จังหวัดสมุทรสงคราม ประจำปี 2542. สัมภาษณ์, 27 มิถุนายน 2554
ครูช่างหนังใหญ่บางน้อย โดยคมสันต์ สุทนต์

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

ตามหาหุ่นกระบอกอัมพวา ที่วัดบางเกาะเทพศักดิ์ โดยคมสันต์ สุทนต์

โดยคมสันต์ สุทนต์
“ถ้าอยากรู้เรื่องหุ่นกระบอกอัมพวา ต้องไปตั้งต้นที่วัดบางเกาะเทพศักดิ์ ตำบลแควน้อย..” นี่คือข้อมูลเริ่มต้นของการค้นหาหุ่นกระบอก เมืองอัมพวา ผมเคยอ่านข่าวผ่านตาว่าวัดนี้เคยจัดงาน "ถนนคนเดิน อนุรักษ์วัฒนธรรม วัดบางเกาะเทพศักดิ์" มีสาธิตการทำขนมไทยชมหนังกลางแปลงโบราณ ชมดนตรีไทย และการเชิดหุ่นกระบอกด้วย

ย้อนไปซักสองร้อยกว่าปี ตามประวัติศาสตร์ที่แห่งนี้ เคยเป็นสนามรบสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เคยยกทัพมายืดค่ายบางกุ้งคืนจากพม่า บริเวณวัดบางเกาะเทพศักดิ์จะติดต่อกับค่ายบางกุ้ง มีเพียงคลองแควอ้อมคั่นกลาง และคลองแควอ้อมยังสามารถเดินทางเรือหรือทางน้ำไปจังหวัดราชบุรี หรืออำเภอปากท่อได้ในสมัยก่อน เคยเป็นคลองลัดที่จะไปจังหวัดราชบุรีและตลาดนัดปากท่อ เพื่อหนีน้ำเชี่ยวหรือน้ำหลากในเวลาน้ำเหนือลง น้ำในแม่น้ำแม่กลองจะไหลเชี่ยวจัด บรรดาพ่อค้าแม่ค้า จึงหลบหนีกระแสน้ำไปทางคลองแควอ้อม ไม่ใช่แค่เรื่องการคมนาคมหรือการค้าขายอย่างเดียว แม้แต่เรื่องดนตรีก็ทำให้นักดนตรีหลายสำนักได้ไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนความรู้กัน อาทิ สำนักครูรวม พรหมบุรี แห่งเมืองราชบุรี กับ สำนักครูรวม แก้วอ่อนแห่งอัมพวา เป็นต้น

เชิดผีเสื้อสมุทร ต้องนึกถึง ครูวงษ์ รวมสุข
ครูวงษ์ รวมสุข เกิดวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2451 ที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรคนที่ 6 ของนายสว่าง นางสมบูรณ์ รวมสุข ในจำนวน 13 คน ซึ่งเป็นหญิง 7 คน ชาย 6 คน ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2537 อายุ 86 ปี ท่านเรียนหนังสือกับบิดา และไปเรียนที่วัดบางเกาะเทพศักดิ์อินทรประชาคม ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2475

ครูวงษ์ รวมสุข เป็นศิษย์เอกของแม่ครูเคลือบเดิมทีได้เรียนวิชาเชิดหุ่นกับ แม่ครูสาหร่าย ช่วยสมบูรณ์ ที่จังหวัดสมุทรสงครามเมื่ออายุได้ ๑๒ ปี เมื่อเชิดได้ดี แม่ครูสาหร่ายจึงส่งไปฝึกกับแม่ครูเคลือบ ที่บ้านเจ้าคุณชำนาญอักษรในกรุงเทพฯ นายวงษ์มีความสามารถ ในการเชิดหุ่นมาก คราวใดที่เชิดเป็นตัวผีเสื้อสมุทร จะวาดลวดลายเต็มที่ เรียกเสียงฮาเป็นที่สนุกสนาน ชื่นชอบใจของผู้ชมมาก เด็กๆ มักเรียกกันว่า “หุ่นลุงวงษ์”หรือ”หุ่นตาวงษ์” หุ่นกระบอกคณะชูเชิดชำนาญศิลป์เป็นคณะที่มีชื่อเสียงมาก เคยมีผู้ติดต่อไปแสดงในวังและได้แสดงถวายหน้า พระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และเคยแสดง ถวายหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ หลายครั้ง

นอกจากความสามารถในการเชิดหุ่นแล้วท่านยังเป็นผู้ที่มีความสามารถ ในการแต่งการบทประพันธ์อีกด้วยได้แต่งบทประพันธ์ หลายเรื่องเพื่อใช้ในการแสดงหุ่น เช่น เรื่องมงกุฏเพชร มงกุฏแก้ว ศรีสุริยง ระกาแก้ว กุมารกายสิทธิ์ และคนโททอง “เรื่องที่หุ่นกระบอกรุ่นลูกหลานยังพอจำเนื้อเรื่องย่อได้คือ ระกาแก้ว การดำเนินเรื่องคล้ายสังข์ทอง แต่เปลี่ยนให้พระเอกเกิดมาเป็นไก่... ทุกเรื่องครูวงษ์จะจดไว้ในสมุด เขียนเรื่องแบบหน้าเว้นหน้าสลับกัน เพื่อไม่ให้เป็นที่หมายตาใคร เพราะอ่านแล้วจะไม่ได้ใจความต่อเนื่อง แต่น่าเสียดายที่มีนิสิตของสถาบันแห่งหนึ่ง ยืมไปทำวิทยานิพนธ์แล้วไม่คืน พยายามตาหาก็ไม่เจอ” (สัมภาษณ์ : กรรณิการ์ แก้วอ่อน, 29 มิถุนายน 2554)

ทำให้ผมเองอดเสียดายไม่ได้ เพราะอยากรู้ว่าอีกสี่เรื่องที่ครูวงษ์แต่งนั้นมีเนื้อหาสนุกสนานขนาดไหน ใครทราบ? รู้ตัวว่าได้หยิบคลังปัญญาศิลปินอัมพวาไปโปรดส่งคืนต้นฉบับ หรือถ่ายเอกสารส่งกลับก็ยังดี

ครูวงษ์ รวมสุข ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติยศ “ ศิลปินพื้นบ้านดีเด่นและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ( สาขาหุ่นกระบอก )” ประจำภาคกลางจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม ปี พ.ศ.2529 และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2537 ก่อน ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราในวัย 86 ปี เมื่อวันที่ 12 กันยายน ปีเดียวกัน
ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2540 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชทานเพลิงศพ ครูวงษ์ รวมสุข ณ เมรุ วัดบางเกาะเทพศักดิ์





ยุววิจัยประวัติศาสตร์ ฟื้นชีวิต “หุ่นกระบอกอัมพวา”
เมื่อต้องเขียนเรื่องหุ่นกระบอกอัมพวา ทำให้ผมนึกถึงบทสัมภาษณ์ที่สุดประทับใจของ ชัยยงศ์ สมประสงค์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (พ.ศ. 2552) จากโรงเรียนถาวรานุกูล จังหวัดสมุทรสงคราม ที่เขาส่งบทความข่าวฝากไว้ในกระทู้เวปไซด์ของผม (khomsun.com) ซึ่งตอกย้ำให้ผมมั่นใจว่า คนที่จะจริงใจเอาใจใส่ดูแลศิลปะการแสดงพื้นถิ่นไว้ใด้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นอกจากลูกหลานของคนชุมชนนั้นนั่นเอง

“ชัยยงศ์ ..เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่าเขาและเพื่อนๆ 5 คนได้ใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนให้เกิดประโยชน์ด้วยการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับหุ่นกระบอก จากความสนใจที่เห็นหุ่นกระบอกถูกเก็บอยู่ในตู้โชว์ กอปรกับความสนใจส่วนตัวในศิลปะไทยแขนงต่างๆ ทั้งยังต้องการทราบความเป็นมาของจังหวัดสมุทรสงครามซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งศิลปิน และ “หุ่นกระบอก” มหรสพที่เคยรุ่งเรืองในอดีต

“ หุ่นกระบอกในเมืองแม่กลองเป็นสายเดียวกับหม่อมราชวงศ์เถาะ ที่มีแม่ครูเคลือบผู้หญิงเก่งในยุคนั้นเป็นผู้ฝึกสอน แม่ครูเคลือบเปรียบเป็นดาราซึ่งมีชื่อเสียงมาก เพราะมีคนว่าจ้างให้ไปเชิดหุ่นอยู่เสมอจนกระทั่งได้ไปอยู่กับพระองค์เจ้าสุทัศน์นิภาธร

ครั้งหนึ่งหุ่นกระบอกคณะของพระองค์เจ้าสุทัศน์ฯได้มาแสดงในงานศพที่วัดเพชรสมุทรวรมหาวิหาร จังหวัดสมุทรสงคราม และที่งานนี้เองที่ทำให้คนสมุทรสงครามได้มีโอกาสชื่นชมการแสดงหุ่นกระบอกเป็นครั้งแรก และด้วยอุปนิสัยของแม่ครูเคลือบที่ใจดีและเป็นคนช่างคุย ไม่หวงวิชา ทำให้แม่สาหร่ายกับนายพลอย ช่วยสมบูรณ์ สองสามีภรรยาชาวแม่กลองได้มีโอกาสเรียนรู้การละเล่นหุ่นกระบอกกับแม่ครูเคลือบ จนสามารถตั้งคณะหุ่นกระบอกขึ้นในจังหวัดสมุทรสงคราม และขณะที่แม่ครูเคลือบสอนการเล่นหุ่นกระบอกยังมี นายวงษ์ เด็กหนุ่มช่างพูดคอยไปด้อมๆมองๆด้วยความอยากรู้อยากเห็น แม่ครูเคลือบ นายพลอยและแม่สาหร่าย เห็นแววจึงสอนนายวงศ์ให้หัดเชิดหุ่นกระบอก และส่งไปเรียนการเชิดหุ่นกระบอกกับเจ้านายที่กรุงเทพฯ”

วันนี้แม้คณะหุ่นกระบอกของนายพลอยและแม่สาหร่าย ช่วยสมบูรณ์ จะไม่หลงเหลืออยู่แล้ว เนื่องจากคุณยายสาหร่ายไม่มีลูกหลานสืบทอดโดยตรง แต่หุ่นกระบอกของนายวงศ์ซึ่งเป็นศิษย์เก่าก็ยังคงอยู่ พร้อมถ่ายทอดการแสดงหุ่นกระบอกให้คนแม่กลองได้ดูโดยใช้ชื่อว่า คณะชูเชิดชำนาญศิลป์ และขณะนี้แม้นายวงศ์หรือครูวงศ์จะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีอาจารย์กรรณิกา แก้วอ่อน ญาติของครูวงศ์ที่ยังคงสืบทอดคณะหุ่นกระบอกชูเชิดชำนาญศิลป์มาถึงทุกวันนี้

ชัยยงค์ เล่าว่า หุ่นกระบอกแม่กลองโบราณแท้ๆ หน้าหุ่นจะแกะสลักด้วยไม้เนื้ออ่อน เช่นไม้ทองหลาง ซึ่งในอดีตมีศิลปินแม่กลองซึ่งเป็นผู้หญิงท่านหนึ่ง ชื่อแม่จีบ เนติพัฒน์ สามารถใช้มีดเจียนหมากแกะหน้าหุ่นเป็นหน้ามนุษย์ได้ โดยจะแกะสลักจากการพบเห็นผู้คนรอบๆ ตัว หรือหากวันไหนนึกครึ้มใจก็แกะสลักรูปหน้าตัวเองด้วยการส่องกระจกและเอามือคลำรูปหน้าและค่อยๆแกะสลักไป จนได้หุ่นกระบอกที่หน้าเหมือนตัวท่านเอง จุดเด่นของหุ่นกระบอกแม่กลองจึงเป็นหุ่นที่มีลักษณะเหมือนหน้าคนธรรมดา ขณะที่หุ่นกระบอกกรุงเทพฯหรือหุ่นในวังหลวงจะมีหน้าตาเหมือนเทพหรือเทวดา
สำหรับวรรคดีที่นิยมใช้เล่นหุ่นกระบอกก็คือ พระอภัยมณี เนื่องจากเนื้อเรื่องกระชับรวดเร็ว ไม่ยืดยาด ซึ่งลักษณะการดำเนินเรื่องของหุ่นกระบอกจะได้รับอิทธิพลมาจากการแสดงหุ่นละครนอกที่ไม่มีบทร่ายรำกรีดกรายเหมือนละครใน
เมื่อหมุนเข็มนาฬิกามาถึงปัจจุบัน ชัยยงศ์ บอกว่า จะหาชมการแสดงหุ่นกระบอกของชาวสมุทรสงครามได้ยากแล้ว เนื่องจากมีคณะหุ่นกระบอกเหลือเพียงไม่กี่คณะ และจะแสดงเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญๆ เช่น งานประจำปีเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ .....”
ข้อมูลเดิมจาก : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2552



ครูกรรณิกา แก้วอ่อน ผู้สืบสานหุ่น “ชูเชิดชำนาญศิลป์”
ลัดเลาะถนนผลไม้จากวัดบางเกาะเทพศักดิ์ย้อนกลับมาที่วัดปากน้ำ อัมพวา จอดรถไว้ด้านข้างวิหารพระพุทธไสยาสน์ศักดิ์สิทธิ์ สร้างเมื่อ ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2452) เพื่อมาพบปะพูดคุยกับครูกรรณิการ์ แก้วอ่อน หรือครูหมูใจดีของเด็กๆ ที่ห้องเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดปากน้ำ ผู้สืบทอดมรดกหุ่นกระบอกคณะชูเชิดชำนาญศิลป์ รุ่น 3 นับจากครูวงษ์ รวมสุข, แม่ครูอาบ แก้วอ่อน และครูกรรณิการ์ แก้วอ่อน

“เริ่มแรกก็เป็นเพียงลูกมือ ช่วยหยิบโน่นส่งนี่ให้ ลุง(ครูวงษ์),ให้แม่(แม่ครูอาบ) ตอนแรกก็ยังไม่คิดจะจริงจังอะไรประกอบกับพอลุงวงษ์เสียเมื่อปี พ.ศ.2537 ถัดมาอีก 2 ปีสามีก็มาเสียอีกในปี พ.ศ. 2539 พอมาถึงปี พ.ศ.2543 แม่(แม่ครู)อาบ แก้วอ่อน ก็มาจากไปอีก..เสียใจ หมดกำลังใจไปเยอะ กว่าจะตั้งต้นจริงจังด้วยตัวเองก็มาเอาตอน พ.ศ.2547...”
ครูกรรณิการ์เปิดฉากเล่ามรสุมชีวิตอันหนักหน่วงที่แทบจะตัดใจเลิกลาเชิดหุ่นกระบอก แต่คงมีครูบาอาจารย์ช่วยดลใจให้กลับมาสานต่อลมหายใจหุ่นในตู้กระจกอีกครั้ง

“หุ่นที่บ้านเป็นหุ่นแบบโบราณ คุณยายจีบ เนติพัฒน์ เป็นคนทำตัวหุ่นให้คณะ ...แปลกนะอายุเกือบร้อยปี แต่สภาพตัวหุ่นยังสมบูรณ์มาก อยากจะทำหุ่นชุดใหม่สร้างแบบเดิมเหมือนยายจีบ พี่อยากสร้างด้วยมือพี่เอง...ตัวเก่าๆเขาจะได้พักผ่อนบ้าง ” ครูกรรณิการ์พูดเหมือนหุ่นมีชีวิตและเป็นเสมือนคนในครอบครัว

“พี่ว่าทั่วประเทศมีหุ่นกระบอกไม่น่าเกิน 10 คณะ ช่วงเวลาที่นิยมมากสุดอยู่ในช่วง ปี พ.ศ. 2548 – 2549 งานชุกไม่ได้หยุดไม่ได้หย่อน สมัยก่อนหุ่นกระบอกใช้นั่งเชิด ถ้าเหตุการณ์ไม่เอื้ออำนวยก็สามารถยืนเชิดได้เหมือนหนังใหญ่ ต้องมีม่านหรือมู่ลี่มาบัง แต่วิธีการเชิดจะเหมือนเดิม ...วันนี้มีหุ่นแสดงแบบประยุกต์ร่วมสมัยหลายรูปแบบ พี่ว่าก็ดีนะ เพราะถือว่าได้แตกแขนงออกไป คนดูจะได้ไม่เบื่อด้วย”

เมื่อถามถึงการสืบทอดหุ่นกระบอกอัมพวา ให้คนรุ่นใหม่ ครูกรรณิการ์ตอบว่า “มีนิสิตนักศึกษามาขอความรู้ตลอดเวลา แต่ก็เพื่อทำวิทยานิพนธ์ไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งจริงจัง เพราะแค่ท่ากล่อมหุ่นจะทำให้ดี ต้องฝึกเป็นเดือนๆถึงจะชำนาญ ส่วนรุ่นเด็กๆ นี่จะเริ่มสอนนักเรียนที่โรงเรียนวัดปากน้ำให้เชิดหุ่นประบอกทุกคนตั้งแต่ป.4 พี่เคยลองชั้น ป.2-3 ทักษะการหยิบจับของเด็กเขาจะยังไม่พร้อม”

“ส่วนลูกพี่...พี่มีลูกชายคนเดียว ก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะเอาทางหุ่นหรือเปล่า เขาจะสนใจทางดนตรีไทยมากกว่า คงคุ้นหน้าเขาบ้าง กรรธวัช แก้วอ่อน ที่เป็นแชมป์ระนาดเอกรายการคุณพระช่วยอยู่ 7 สมัย เขาชอบทางดนตรีติดไปทางพ่อเขา ลุงเขา(ครูณรงค์ รวมบรรเลง อดีตหัวหน้าวงดนตรีไทย กรมประชาสัมพันธ์) ปู่เขา (ครูรวม แก้วอ่อน สำนักดนตรีชื่อดังลุ่มน้ำแควอ้อมอัมพวา) เรานี่เห็นเป็นลูกชายก็พยายามจะให้เขาเรียนไปทางทหารโน่น.. แต่เขามุ่งมั่นเรื่องดนตรีมาตั้งแต่เด็กจริงๆ เขาเลยได้ดีทางดนตรี”
แล้วใครจะสืบสาน หุ่นกระบอกอัมพวา ?

“ก็มีครูอภิชาติ อินทรยงค์ คนนี้เขาเป็นรุ่นน้อง เป็นลูกศิษย์ได้ความรู้มาจากลุงวงษ์ รวมสุขมาเยอะมาก เขาจะมาช่วยสอนที่โรงเรียนปากน้ำและสอนพิเศษหลายแห่งอย่างที่ โรงเรียนอัมพวันวิทยาลัยเขาก็สอน

ส่วนลูกศิษย์พี่เลยที่โตๆแล้วแต่ก็มาช่วยงานกันไม่ได้ขาดก็มี สมเกียรติ์ เวชการ เรียนอยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ฐิตินันท์ ผุลละศิริ เรียนอยู่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรุงเทพฯ, ขวัญนภา จุลเจิมศักดิ์ เรียนที่ มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรีฯ

ครูอภิชาติ อินทรวงค์ศิษย์ก้นกุฏิครูวงษ์ รวมสุข
“วิธีการเชิดหุ่นของอัมพวาจะแตกต่างจากที่อื่นหลายอย่าง เช่นการกระทบตัว ส่วนทางร้องเพลงหุ่นขึ้นลงก็ต่างจากที่อื่น ..มีครูณรงค์ รวมบรรเลงนี่หละ ที่น่าจะยังรักษาทางร้องหุ่นแบบอัมพวาไว้ได้ ทางซอ(อู้)ก็ไม่เหมือนกันอย่างกรุงเทพฯ เขาสีแบบคลอร้อง สีเหมือนทำนองร้อง แต่ลุงวงษ์ (รวมสุข) นี่ท่านจะสีแบบเคล้า ทำนองจะหยอกล้อพันกัน ผมเองจำท่วงทำนองได้ใจมันไหว แต่มือมันไม่ค่อยไปแล้ว”

แม้จะเป็นบทสนทนาแทรกสั้นๆ ที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับครูอภิชาติ อินทรยงค์ แต่ก็ทำมีความรู้สึกว่า ซักวันหนึ่งต้องกลับไปฟังทางร้อง ทางซอหุ่นกระบอกอัมพวาให้ได้

“สมัยก่อนผมไปเรียนไปเล่นปี่พาทย์วงครูรวม อ่อนแก้ว ที่ปากน้ำ อัมพวาพร้อมกับเรียนหุ่นกระบอกกับครูวงษ์ รวมสุข ...เท่าที่จำได้สมัยนั้นคนเชิดหุ่นก็จะมี ครูวงษ์ รวมสุข, ป้าชิต รอดภัย, ลุงเพิ่ม(ไม่ทราบนามสกุล), คุณถวิล พัฒโน, คนบทก็คุณประมูล เนติพัฒน์ น้องชายของคุณยายจีบ เนติพัฒน์คนสร้างหุ่น...”


โครงการหลังปลดเกษียน “โรงหุ่นกระบอกที่วัดบางเกาะเทพศักดิ์”
“พี่ปรึกษาหลวงพ่อวัดบางเกาะฯ ไว้แล้วว่า อีกสองปีหลังจากพี่ปลดเกษียน ขอพื้นที่เล็กๆในวัดไว้สร้างโรงหุ่นกระบอกเอาไว้เล่นให้นักท่องเที่ยวดู ..เอาไว้สอนเด็ก ใครอยากได้ความรู้ก็มาเอา ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือนักท่องเที่ยว ก็ยินดีสอน สาธิตให้...”

ปิดท้ายการสนทนาครูหยิบหุ่นกระบอก แต่งชุดลายดอกแบบชาวบ้านอัมพวาขึ้นมาสาธิตท่ากล่อมตัว มีกล่อมนอก กล่อมใน กระทบตัว และที่สุดยอดคือท่าตีลังกา เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของลุง(วงษ์)

ครูเล่าแทรกว่ามีรุ่นพี่ในคณะอยู่คนหนึ่งเชิดผีเสื้อสมุทรนี่แหละแล้วหัวเกิดหลุด ในวงการหุ่นนี่ถือว่าร้ายแรง(ไม่เป็นมงคล) หลังจากนั้นเป็นกรณีสำคัญที่ทำให้หุ่นทุกตัวของคณะฯ ต้องมีน๊อตแบบห่วงหมุนล็อคหัวหุ่นกับกระบอก

“ ...นี่หูหุ่นกับหูคนต้องเท่ากัน ลุงวงษ์ล่ะก็ ย้ำนักย้ำหนาเชียว ...เอ้าเต้นเขนต่อ ต้อมต้อมๆๆ(ไม้กลองกราวใน)......”
แล้วครูก็ค่อยๆ เปิดเสื้อหุ่นให้ดูด้านใน มือซ้ายจับกระบอกไม้ไผ่ มือขวาจับไม้ตะเกียบคู่ ที่กลิ้งกลอกเคลื่อนไหวคล่องแคล่วดั่งเล่นกล
“เปิด(เสื้อผ้าหุ่น)ออกจะเห็นว่ามีอะไรซุกซ่อน มีอะไรให้ค้นหาเรียนรู้อีกตั้งเยอะในตัวหุ่น”
แม้จะไม่ได้คุยกันมากมายทั้งวันกับครูกรรณิการ์ แก้วอ่อน เพราะท่านต้องติดภารกิจสอนเด็กต่อในช่วงบ่าย แต่ก็ทำให้ผมรู้สึกผูกพันธ์กับหุ่นกระบอกอัมพวา และหุ่นทุกชนิดของไทยอย่างจับใจ
โดยคมสันต์ สุทนต์

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554