วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ระนาดลิเกวิเศษ คมสันต์ สุทนต์ บันทึกความทรงจำ



ระนาดลิเก วิเศษฯ

โหมโรงระนาดลิเก วิเศษฯ
เรื่องราวของระนาดลิเก วิเศษฯ (วิเศษชัยชาญ)เกิดขึ้นจากที่ผมต้องค้นหาข้อมูลเพื่อถ่ายทำรายการบางบรรเลงเพลงระนาด ก่อนหน้านั้นปลายปี 2554 เกิดมหาอุทกภัยจังหวัดแถบภาคกลางอาทิ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง อยุธยา เป็นต้น ล้วนแต่เป็นแหล่งคณะลิเกที่สำคัญๆทั้งนั้น ผมและทีมงานถ่ายทำจึงตั้งใจหนีน้ำไปถ่ายทำระนาดลิเกโคราช เพราะที่นั่นน้ำไม่ท่วมและถือเป็นชุมชนลิเกขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย มีเรื่องราวขออดีตพระเอกลิเกพ่อเต็ก เสือสง่า, ครูบุญยัง เกตุคง ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินลิเกอีกเกือบกว่า 100 คณะ***

แต่ด้วยเงื่อนไขบางประการ เหมือนบุพเพสันนิวาสที่ผมต้องมาเป็นผู้ดำเนินรายการตอนนี้ แล้วต้องกลับมาตั้งหลักถ่ายทำแถบท้องถิ่นภาคกลาง

ผมจึงนั่งทบทวนโจทย์ใหม่ เล็งว่าน่าจะเป็นอยุธยากับอ่างทอง ที่ว่าเป็นอยุธยาก็เพราะนึกถึง พ่อครูหอมหวล นาคศิริ(พ.ศ2442.-พ.ศ.2521) อ.บ้านแพรก กับพระพร ภิรมย์หรือ บุญสม อยุธยา(พ.ศ.2471-พ.ศ.2553) อ.พระนครศรีอยุธยา ที่ถือว่าเป็นตำนานลิเก เมื่อสืบถามหาคนระนาดในยุคนั้น ก็มีลุงลือ เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนระนาดลิเกคู่ใจพระพร ภิรมย์ก็คือคุณครูกำนันสำราญ เกิดผล ศิลปินแห่งชาติ(พ.ศ.2470-ปัจจุบัน) บางบรรเลงเพลงระนาด ก็นำเสนอท่านไปแล้ว ตอนระนาดประชันคู่กับครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ (พ.ศ.2474-ปัจจุบัน)

ผมจึงมาหาจุดโฟกัสใหม่เป็นแถบ ป่าโมก วิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง พูดถึงป่าโมก อ่างทองใครๆก็ต้องนึกถึง คุณไชยา มิตรชัย ,ลิเกเด็กกำพร้าวัดสระแก้ว, คุณโน้ต เชิญยิ้มฯลฯ ภาพความทรงจำตอนเด็กๆของผมมันผุดขึ้นมา
ท่ารถ ป่าโมกในอดีตทจะมีป้ายคณะลิเกทาด้วยสีโปสเตอร์สะท้อนแสงบนแผ่นไม้อัดใหม่บ้างเก่าบ้างบอกชื่อคณะลิเกพร้อมเบอร์โทรติดต่อเยอะๆๆๆๆมาก, เห็นแล้วต้องคิดว่าว่าโลกนี้มีแต่ลิเก หรืออย่างไร? ในอดีตจะมีคุณลุง(เขาว่าเป็นพระเอกตกยาก)แต่งชุดลิเกมาร้องราชนิเกลิงขอเงินผู้โดยสารต่างถิ่น เป็นเหมือน Presenter ประจำท่ารถป่าโมก เดี๋ยวนี้ไม่หลงเหลือบรรยากาศแบบนั้นแล้วครับ

ส่วนที่วิเศษชัยชาญนี่ก็ไม่เบา มีทั้งศิลปินแห่งชาติ คุณครูบุญเลิศ นาจพินิจ และพระเอกเงินล้านอาจารย์พงษ์ศักดิ์ สวนศรี ผมว่าถ้าต้องเจาะลึกถ่ายทำกันจริงๆ 5 ตอนก็จะไม่จบเพราะข้อมูลสนุกๆน่าสนใจเยอะแยะมาก
ที่สำคัญประเด็นของเราคือ ระนาดลิเก ไม่ใช่พระเอกลิเกครับ

แล้วระหว่างอำเภอป่าโมก กับอำเภอวิเศษชัยชาญ ที่ไหนล่ะจะมีข้อมูลความน่าสนใจ คนระนาดลิเกที่เป็นต้นเรื่องได้มากกว่ากัน ?
ด้วยเหตุผลหลักนี้ ผมและทีมงานถ่ายทำจึงขอเลือกนำเสนอ ระนาดลิเกวิเศษฯ เป็นกรณีศึกษา

คนต้นเรื่อง ระนาดลิเก วิเศษฯ
คนต้นเรื่องหลักที่ใครๆก็ลงความเห็นว่า เป็นคนระนาดลิเกตัวจริง และเป็นต้นแบบระนาดลิเกยุคเวทีลอยฟ้าซะด้วยก็คือพี่แก่ หรือคนในวงการเขาจะเรียกกันว่า สมชาย พิกุลทอง ซึ่งเป็นเพื่อนรักระนาดคู่คิด อาจารย์พงษ์ศักดิ์ สวนศรี พี่แก่เป็นตระกูลระนาดลิเกโดยสายเลือด ย้อนไปตั้งแต่รุ่นครูฟอง บ้านดาบ-ปู่-พ่อ ก็เป็นรุ่นที่ 4 แล้วได้ฝึกฝนจนลูกชายเป็นนักระนาดลิเก รุ่นที่ 5

คนต้นเรื่องสมทบอีกสองท่านคือ ลุงพยอม พันธุ์ไม้ อดีตระนาดลิเกวิกเมื่อ 50 ปีก่อน แต่ตอนนี้ยกเครื่องปี่พาทย์ให้หลานชาย แล้วมาใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เล่นระนาดไหว้ครู ระนาดเครื่องมอญ ละครแก้บน ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่า ลุงยอม เรียกชื่อสั้นๆเพื่อความเป็นกันเอง เป็นนักระนาดที่ตีรับละครได้เพราะถูกใจผมที่สุด

ส่วนอีกท่านหนึ่งคือ ลุงปิ่น ศรแก้ว คณะนายไปล่ ระนาดลิเกอาวุโสแห่งเมืองวิเศษชัยชาญ สมัยเมื่อ 60 ปีก่อนลิเกคณะไหนมาเยือนถิ่นวิเศษ ต้องออกใบจองตัวลุงปิ่น ไปตีรับร้องทุกครั้ง จะไม่ให้เป็นเต็งหนึ่งได้อย่างไรเพราะตอนหนุ่มได้เรียนวิชาระนาดกับ พ่อครูพริ้ง ดนตรีรส, ครูฟอง บ้านดาบ(พ่อบุญธรรม), ครูสำรวย แก้วสว่าง
เล่นลิเกประจำวิกกรุงเทพฯ และเป็นคู่ประชันกินกันไม่ลงอีกท่านหนึ่งของครูไก่-สืบสุด ดุริยประณีต

คนระนาดลิเกวิเศษฯ ยังไม่ได้มีเท่านี้ ลุงชิด สุกใส บ้านยี่ล้น ตีระนาดไหวจัด ตอนนี้อายุมากแล้วเป็นโรคเบาหวาน, ลุงช่วย บ้านยี่ล้น ตีลิเกบางครั้ง(เป็นศิษย์ท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ) เดี่ยวระนาดลาวแพน เพราะเหมือนระนาดจะพูดได้ ตอนนี้ยังสอนเด็กๆในท้องถิ่น, ลุงประจิม สิทธิโชค วัดขุมทอง(เป็นลูกศิษย์ของครูชื้น ดุริยประณีต), พ่อนุ่น-วิชัย โพธิ์ระย้า(เสียชีวิตแล้ว) เป็นศิษย์รักของลุงปิ่น
แต่ถ้าโยงไปถึงระนาดประชันคนวิเศษฯ จะต้องนึกถึง ครูผู้ใหญ่ประเสริฐ สดแสงจันทร์ ฉายาสิงห์สามจังหวัด

โปรดติดตาม ระนาดลิเก วิเศษฯ ตอนต่อไป

• เปิดเรื่องระนาดลิเกที่วัดม่วง“ไหว้พระวิเศษ” ใหญ่ที่สุดในโลก
• ไปหาพี่แก่ ระนาดลิเกที่วัดนางชำ
• ครูบุญเลิศ นาจพินิจ พระเอกระนาดลิเก ฯลฯ

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

คมสันต์พาไปคุยกับ ก๊กเฮง จำอวดรุ่นบุกเบิก ในบางบรรเลงเพลงระนาด 20 กุมภาพันธ์นี้

คมสันต์พาไปคุยกับ ก๊กเฮง จำอวดรุ่นบุกเบิก ในบางบรรเลงเพลงระนาด 20 กุมภาพันธ์นี้
คมสันต์ สุทนต์ผู้ดำเนินรายการ พาคุณผู้ชมไปพูดคุยเคล้าเสียงฮากับจำอวดอาวุโสยุคบุกเบิกวัย 90 ปี ก๊กเฮง- ครูเฉลิมศักดิ์ พุกกะณะสุต เพื่อรู้ที่มาของคำว่า “ระนาดจำอวด” และไปเที่ยวบ้านจำอวดใจดีเมืองเพชรบุรี ลุงเล็ก-ครูชนะ ชำนิราชกิจ ศิลปินครบเครื่องเรื่องร้องรำทำเพลง ปิดท้ายด้วย “ระนาดตลก คาเฟ่” ข้ามยุค พี่ปู ดอกกระโดน-ครูบุญสร้าง เรืองนนท์ ในรายการบางบรรเลงเพลงระนาด ตอนระนาดจำอวด วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 23.00 น.(ห้าทุ่ม) ทาง ไทยพีบีเอส







คมสันต์ สุทนต์ เล่าให้ฟังถึงบางบรรเลงฯ และความหมายของคำว่า ระนาดจำอวด ตอนนี้ว่า
“ระนาดจำอวด ตอนนี้เป็นตอนประวัติศาสตร์ที่ไม่อยากให้คนไทยพลาดชม ความรื่นรมย์ร่ำรวยอารมณ์ขันของสามศิลปินจำอวด-ตลกชั้นครู ที่จะมาเล่าเรื่องราวเคล้าเสียงฮา เรียกรอยยิ้มได้เกือบ 1 ชั่วโมงเต็ม..
จำอวด ผมว่าน่าจะมาจากคำว่า “จำมาอวด” (คมสันต์ สุทนต์) มีที่มาจากสวดคฤหัสถ์ในงานศพ อาจจะเป็นเครือญาติกับตลกลิเก, ตลกหลวง, ตลกโขน, ตลกเสภา, เบญจพรรณ..

ระนาดจำอวด น่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจาก จำอวดคณะดอกจันทร์ ที่ครูยรรยงค์ โปร่งน้ำใจ(จมูกแดง) ล้อเลียนการประชันปี่พาทย์ ของวงปี่พาทย์วังบูรพาฯ มีจางวางศร(หลวงประดิษฐไพเราะ-ศร ศิลปบรรเลง) กับวงปี่พาทย์บางขุนพรหม จางวางทั่ว (คุณครูจางวางทั่ว พาทยโกศล) ท่านครูทั้งสองเป็นผู้ควบคุมวง ในยุคสมัยนั้นเป็นที่เลื่องลือกันกล่าวขานกันทั้งพระนคร
ครูยรรยงค์ก็หยิบมาแสดงล้อเลียน โดยตั้งชื่อแทนเสียใหม่ว่า “จางวางเพลิง” แล้วแต่งตัวสีแดงแจ๊ดติดเหรียญตราเต็มจนล้นอกซึ่งชื่อตัวจำอวดนี้น่าจะหยิบมาจาก ชื่อจางวางเพลิง ใน พลนิกร กิมหงวน ของ ป. อินทรปาลิต”

คมสันต์กล่าวสรุป พร้อมปิดท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า

“สิ่งที่น่าแปลกและทึ่งคือ จุดเริ่มต้นของระนาดจำอวด มาจากเรื่องราวการประชันปี่พาทย์ เหมือนอย่างในละครเรื่อง โหมโรง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตจริงของท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ครับ

พลาดชมตอนนี้จะเสียใจไปทั้งชาติ รายการบางบรรเลงเพลงระนาด ตอนระนาดจำอวด วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 23.00 น.(ห้าทุ่ม) ทาง ไทยพีบีเอส“แล้วคุณ..จะรักระนาด ทุกชาติไป”
รู้จัก “ระนาดจำอวด” เพิ่มเติมได้ที่ : http://ranadjamauad.blogspot.com/