วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทิศทางดนตรีศึกษาของไทยในทศวรรษหน้า

สมาคมครูดนตรี(ประเทศไทย) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครูดนตรี เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านดนตรีศึกษา สนับสนุนการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนดนตรี ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างครูดนตรีทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาครูดนตรีถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญของสมาคมฯ เพราะการพัฒนาครูคือการพัฒนาเด็กในอนาคต
ในปีการศึกษานี้ทางสมาคมครูดนตรี ร่วมด้วย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกระทรวงศึกษาธิการ จัดการประชุมวิชาการดนตรีศึกษาเรื่อง “ทิศทางดนตรีศึกษาของไทยในทศวรรษหน้า” ระหว่างวันที่ 20-21พฤษภาคม 2554 ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในสังคมดนตรีศึกษาจากทุกภูมิภาคในประเทศไทย นับเป็นการสร้างเสริมศักยภาพ การสร้างเครือข่าย เปิดโอกาสให้ครู อาจารย์ผู้สอนดนตรีทั่วประเทศ ตลอดจนนักวิจัย และนักดนตรีศึกษานำเสนอผลงานวิจัยและแนวคิดใหม่ รวมทั้งให้โอกาสนำนักเรียน นิสิต นักศึกษามาร่วมจัดการแสดงดนตรี ได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันระหว่างสถาบัน เป็นการเพิ่มพูนความรู้ทางดนตรี ศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนดนตรีและจัดการแสดงดนตรี การแสดงกตัญญุตาต่อครูดนตรีอาวุโสที่สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์เป็นตัวอย่างแก่ครูดนตรีรุ่นหลังต่อไป

(รองศาสตราจารย์อรวรรณ บรรจงศิลป) นายกสมาคมครูดนตรี (ประเทศไทย)

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ครูประเทือง เสียงเสนาะ ครูระนาดคนที่ ๒

ครูประเทือง เสียงเสนาะ “ครูระนาดคนที่ ๒”
บันทึกความทรงจำ “คมสันต์วรรณวัฒน์ สุทนต์”
“ลุงจะสอนระนาด เหมือนสอนนายร้อย..เพราะเธอต้องเป็นผู้นำ”


ครูประเทือง ลูกศิษย์ครูบัว ศรีประจันต์
ในระแวกใกล้บ้านสามโก้ ครูดนตรีปี่พาทย์ที่มีชื่อ ที่พ่อผมพอจะพาฝากไปเป็นลูกศิษย์ได้ก็คือ “ครูประเทือง เสียงเสนาะ” เป็นน้องชายของครูแสวง เสียงเสนาะ บ้านม่วง ศรีประจันต์ พี่ชายคนโตของผมตอนตัวเล็กๆ เคยไปจับข้อมือฆ้องเรียนสาธุการ ยังไม่ทันจบเพลง ครูก็หมดลมไปซะก่อน วิชาการดนตรีของครูแสวงจึงตกอยู่กับครูประเทือง ผู้เป็นน้องชาย โดยทั้งสองท่านตอนหนุ่มถือว่าเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในวงปี่พาทย์ครูบัว แสงจันทร์ อ.ศรีประจันต์ ฝีมือของพี่ชายครูประเทืองนั้นผมไม่ทันเห็นแต่เขาล่ำลือว่าวิชาแก่กล้ามาก โดยเฉพาะระนาดเอก..
ส่วนครูประเทือง นั้นในช่วงนั้นที่อายุก็ห้าสิบกว่า ก็ยังตีระนาดเสียงเรียบไหวกริบ สะบัดคม รัวชัด ทางเรียบร้อยชั้นเชิงแบบลึกสำนวนเพราะ นั่งตีระนาดตัวตรงนิ่ง ให้ตีเร็วเท่าไหร่ หรือสนุกสนานอย่างไรก็ตัวนิ่งยังกับหุ่น ป้าเทียม (ภรรยาครู) เล่าให้ฟังว่า พ่อแก่(พ่อของครู)จะจับ ไล่ระนาดทุกเช้าแกจะเอาผ้าขาวม้าพันหัว แล้วเอาขันน้ำตั้งไว้ ตั้งไว้อย่างนั้นตั้งแต่ต้นจนจบเพลงไม่มีหล่น เพราถ้าหล่นนี่เป็นเรื่องแน่ๆ


ฝากตัวเป็นศิษย์กันข้างถนน
(โปรดติดตามอ่าน ตอนต่อไป)

บุญกุศลใดที่ทำให้ผู้อ่านบันทึกของข้าพเจ้าแล้วเกิดพุทธิปัญญา ขอผลานิสงค์บุญทั้งหมดนี้จงส่งตรงไปถึงครูประเทือง เสียงเสนาะ ครูคนระนาด คนที่สอง ๒ (ระนาดโหมโรง) สิ่งใดที่ข้าพเจ้าได้ล่วงเกินด้วยกาย วาจาใจ ด้วยความประมาทพลาดพลั้ง ขอครูจงโปรดเมตตายกโทษให้อภัย และจงอำนวยอวยชัยให้ข้าพเจ้าและคนรักดนตรีไทยทุกคน จงมีแต่ความสุข เจริญรุ่งเรืองตลอดไปเทอญ

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ครูสำรวย งามชุ่ม ครูระนาดคนแรก


“ครูครับผมอยากเรียนระนาด...”
ช่วงเวลากลางวัน...หลังจากกินข้าวเสร็จ เพื่อนๆก็จะนั่งเล่นพักผ่อนกัน ส่วนผมจะขึ้นมาห้องดนตรี มาเรียนระนาดเอกกับครูสำรวย งามชุ่ม ครูก็จะต่อเพลงฉิ่งมุล่ง มารู้ทีหลังว่าเป็นทางของครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ซึ่งทางมันฟังแปลกสำหรับผม
ในขณะนั้นมาก...
ผมย้อนนึกไปแปลว่าครูไม่กินข้าวกลางวันแน่ๆเลย ครูจะนั่งตัดลิ้นปี่ ไม่ก็เขียนโน้ตเพลงที่แต่งใหม่เป็นอย่างนี้ แม้แต่ตอนกลับไปเยี่ยมหลังจากจบนาฏศิลปฯแล้ว ครูก็ยังทำโน้นทำนี่ตลอดไม่ยอมหยุด
แค่ผมบอกครูว่าอยากเป็นระนาด ครูก็สอนให้โดยไม่มีเงื่อนไข สอนให้ทันที และพยายามเคี่ยวเข็ญให้ได้ดี..ด้วยความอดทนและเมตตาสูงมากๆ
ถ้าไม่มีครู เริ่มต้นสอนระนาด เหมือนให้ฝึกอ่าน กอ กา ผมก็ไม่มีพื้นฐานที่จะไปเรียนระนาดต่อยอดกับครูท่านอื่นๆ
สิ่งที่ผมได้จากครูสำรวย คงไม่ใช่แค่ทางระนาด
แต่ผมได้หนทางความเป็นครู
ครูรับศิษย์ สอนศิษย์ทุกคน โดยไม่มีเงื่อนไข
ครูที่จดบันทึก และสร้างสรรค์งานอย่างสม่ำเสมอ
ครูที่ทำทุกเวลาให้เป็นประโยชน์
ครูที่มีแต่ความเรียบง่าย...อารมณ์ดีตลอดชีวิต
กราบระลึกถึงครูชั่วนิรันดร์
คมสันต์วรรณวัฒน์ สุทนต์