http://www.g-pra.com/webboard/show.php?Category=general_talk&No=118223
หลวงพ่อซำ อินทสุวรรณโณ
นามสกุลเดิม ลีสุวรรณ์ เป็นบุตรของนายจีนซึง กับนางอินท์ แซ่ลี้ มีพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกัน 3 คน หลวงพ่อท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2415 ที่บ้านหลักขอน ตำบลห้วยคันเหลน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง และได้อุปสมบทที่วัดตลาดใหม่ ตอนอายุได้ 23 ปี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2438 โดยมีพระอธิการดี วัดฝาง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการแป้น วัดสิงห์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์จันทร์ วัดท่าสุวรรณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังจากที่อุปสมบทแล้วท่านก็อยู่จำพรรษาที่วัดตลาดใหม่ ด้วยความเคารพในหลวงปู่คุ่ย พระอริยสงฆ์ผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรมอีกทั้งยังเป็นพระสงฆ์ผู้ทรงวิทยาคมเลิศล้ำในทุกๆ ด้าน จึงขอจำพรรษารับใช้หลวงปู่คุ่ย จนมีความผูกพันและกลายเป็นศิษย์รักในเวลาต่อมา จนได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆ ครั้นจำพรรษาได้เพียง 2 พรรษา หลวงปู่คุ่ยเห็นแววใฝ่รู้อีกทั้งยังมีความขยันหมั่นเพียร จึงส่งหลวงพ่อซำให้มาศึกษาหาความรู้ร่ำเรียนภาษาบาลี ศึกษาพระคัมภีร์พระธรรมวินัยอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม กทม. จึงได้พบและรู้จักกับพระมหาอยู่ ญาโณทัย (สมเด็จพระสังฆราช อยู่ ญาโณทัย วัดสระเกศวรมหาวิหาร) จนเป็นสหธรรมิกกันตั้งแต่นั้นมา
หลวงพ่อซำเรียนอยู่ที่วัดระฆังฯ ได้เพียง 1 พรรษา ท่านก็ย้ายมาที่วัดสร้อยทอง จนถึงปีพ.ศ.2442 ก็กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดตลาดใหม่ ด้วยความเป็นห่วงโยมบิดา-มารดา และต้องการกลับมาดูแลรับใช้หลวงปู่คุ่ย สำหรับสรรพวิชาอาคมต่างๆ ได้รับการถ่ายทอดจากหลวงปู่คุ่ยจนหมดสิ้นทุกวิชา โดยเฉพาะวิชาสร้างเบี้ยแก้อาถรรพณ์ หลวงพ่อซำชอบมาก เพราะเคยได้รับรู้ถึงพลังพุทธาคม ได้ประจักษ์แก่สายตาท่านเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ท่านจึงสนใจเป็นพิเศษ อีกทั้งด้านยาสมุนไพรและแพทย์แผนโบราณและดูแลงานแทนหลวงปู่คุ่ยได้ จนเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน ต่อมาเมื่อถึงปีพ.ศ.2446 หลวงปู่คุยมรณภาพลงด้วยโรคชรา ชาวบ้านจึงพากันนิมนต์หลวงพ่อซำ เป็นเจ้าอาวาสวัดตลาดใหม่สืบต่อมา
หลวงพ่อซำท่านเริ่มสร้างวัตถุมงคลเมื่อปีพ.ศ.2480 เรื่อยมานับว่าเป็นของดีที่มีประสบการณ์มากมาย ไมว่าจะเป็นเบี้ยแก้อาถรรพณ์ ผ้ายันต์กันภัย ตะกรุดโทนคู่ใจ และครั้งหลังสุดเหรียญรุ่นแรกสร้างปีพ.ศ.2506 การสร้างเบี้ยแก้อาถรรพณ์ของหลวงพ่อซำ หลวงพ่อท่านจะทำการสร้างในวันอาทิตย์ วันอังคาร และวันเสาร์ หากในสามวันนี้วันใดที่ตรงกับวันพระ หลวงพ่อท่านจะหยุดสร้างหนึ่งวัน สรุปว่าในวันพระหลวงพ่อท่านไม่สร้างเบี้ยแก้อาถรรพณ์แน่นอน และการสร้างเบี้ยแก้อาถรรพณ์ ในแต่ละครั้งหลวงพ่อท่านสร้างเพียงจำนวนกำลังวันที่สร้างในวันนั้น เช่น วันอาทิตย์มีกำลังคือ 6 ท่านก็สร้างเพียง 6 ตัว วันอังคารมีกำลังคือ 8 ท่านก็สร้างเพียง 8 ตัวและวันเสาร์มีกำลังคือ 10 ท่านก็สร้างเพียง 10 ตัว ในแต่ละครั้งที่หลวงพ่อท่านทำการสร้างเบี้ยแก้อาถรรพณ์นั้น ท่านจะประกอบพิธีให้แล้วเสร็จในคราวเดียว
กรรมวิธีในการสร้างเบี้ยแก้อาถรรพณ์ของหลวงพ่อซำนั้น จากข้อมูลพระอาจารย์สมุห์ประเมษฐ์ เจ้าอาวาสวัดตลาดใหม่องค์ปัจจุบัน หลวงพ่อซำท่านจะประกอบพิธีการทำเบี้ยแก้วอาถรรพณ์ ท่านจะตั้งศาลเพียงตาบูชาบรมครู ก่อนที่ท่านจะลงมือสร้างเบี้ยแก้อาถรรพณ์ทุกครั้ง ท่านจะนำเบี้ย (หอยพู) ตามจำนวนกำลังวันที่สร้างมาใส่พานวางไว้พร้อมกับปรอทและชันโรงตั้งในพิธีตอนบวงสรวงอัญเชิญบรมครูให้มาสถิตประสิทธิ์ประสาทวิชาและเพื่อขออนุญาตในการประกอบพิธีสร้างเบี้ยแก้อาถรรพณ์ให้เกิดพลังความศักดิ์สิทธิ์ สำหรับชันโรงนั้นท่านจะใช้แต่ชันโรงที่มาทำรังอยู่ในต้นคูน เมื่อประกอบพิธีไหว้ครูเสร็จหลวงพ่อซำท่านจะหยิบเบี้ยขึ้นมาแล้วเทปรอทลงอุ้งมือจากนั้นหลวงพ่อจะบริกรรมคาถาเรียกแร่แปรธาตุ สักพักหนึ่งจึงเทปรอทลงในตัวเบี้ย จากนั้นก็นำชันโรงที่เตรียมไว้มาอุดปิดปากเบี้ย เพื่อป้องกันปรอทไหลออกจากตัวเบี้ย และได้นำแผ่นฟอยล์อะลูมิเนียมมาปิดทับชันโรงอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์และง่ายต่อการจดจำ ซึ่งเบี้ยแก้ที่มีลักษณะนี้เรียกได้ว่าเป็นเบี้ยแก้ที่หลวงพ่อซำท่านสร้างไว้ในยุคต้นๆ (เมื่อปีพ.ศ.2480-2485)
ตอนการสร้างเบี้ยแก้อาถรรพณ์ของหลวงพ่อซำ ท่านจะสร้างเบี้ยแก้อาถรรพณ์เท่ากับกำลังวันดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนแรก เมื่อสร้างครบตามจำนวนหลวงพ่อท่านจะนั่งปรกอธิษฐานจิตปลุกเสก เพื่อประจุพลังอาคมเข้าไปในตัวเบี้ยแก้อาถรรพณ์สำทับอีกชั้นหนึ่ง ท่านนั่งนานตลอดวันภายในพระอุโบสถ (ท่านนั่งปรกหลังจากฉันเพลแล้วไปจนถึงตอนทำวัตรเย็น) จึงถือว่าสำเร็จเสร็จสิ้นทุกขั้นตอน
สำหรับพระคาถาที่หลวงพ่อท่านบริกรรมในการอุดชันโรงและปิดแผ่นฟอยล์นั้น ท่านมักจะใช้บทพระคาถามงคลนิมิต โดยบริกรรมพระคาถาว่า
"อะวิชา ปัจจะยา ปิดจะยา ปัจจะยา
อะวิชา ปัดจะยา ปัจจะยา ปิดจะยา
อะวิชา ปัจจะยา อุอะมะตัง พุทธังอัดธะอุด"
หลวงพ่อท่านเป็นพระเถราจารย์อีกรูปหนึ่งที่มีอายุยืน ท่านเกิดวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2415 ถ้านับพระเกจิอาจารย์ที่สร้างเบี้ยแก้สายอ่างทองแล้วถือว่าท่านอาวุโสที่สุด ท่านมรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2509 สิริอายุได้ 94 ปี พรรษาที่ 71
สำหรับประสบการณ์ที่เล่าโดยคุณบุญส่ง รอดเสียงล้ำ ได้เล่าให้ฟังว่า ลูกชายของแกได้ขับรถจักรยานยนต์แหกโค้งคว่ำได้รับบาดเจ็บ ขณะขับรถซึ่งเป็นถนนลูกรัง ปรากฏว่าบริเวณนั้นเป็นโค้งหักศอก เวลาประมาณบ่ายสี่โมงเย็น ด้วยความรีบเร่งขับรถด้วยความเร็วสูง ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำศีรษะฟาดพื้นถนน โดยที่ไม่ได้ใส่หมวกกันน็อก ผมขาดเป็นกระจุก แต่ที่ศีรษะไม่เป็นอะไร ส่วนบริเวณหัวเข่ากลับเป็นแผลยาว 3 นิ้ว ผู้ประสบเหตุช่วยนำส่งสถานีอนามัยโรงช้าง ขณะที่เจ้าหน้าที่อนามัยกำลังทำการเย็บแผลที่หัวเข่าปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเย็บแผลได้ เข็มแทงไม่เข้า เข็มหักถึง 8 เล่ม คุณลุงคนหนึ่งจึงสงสัยว่าพ่อหนุ่มคนนี้คงจะมีของดี จึงเอ่ยปากว่ามีอะไรติดตัว ให้เอาออกเสียก่อน ปรากฏว่ามีเหรียญหลวงพ่อซำ ปี"06 และเบี้ยแก้อาถรรพณ์ของหลวงพ่อซำ จึงให้เอาออกเสียก่อน จากนั้นเจ้าหน้าที่อนามัยจึงสามารถทำการเย็บแผลได้
คุณตาหวล ระรวยรื่น บ้านอยู่ตลาดใหม่ ซึ่งเป็นศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่อซำ ได้เล่าให้ฟังว่าเมื่อปีพ.ศ.2490 ขณะนั้นยังมีโจรชุกชุมมาก ทางการจึงส่งเจ้าหน้าที่กองปราบฝีมือดีคือ ผู้กองยอดยิ่ง พร้อมด้วยหน่วยกองปราบมาตั้งกองอำนวยการที่วัดนางใน ตำบลศาลเจ้าโรงทอง ตอนนั้นเสือดำ เสื้อฝ้ายออกอาละวาดหนัก ออกจี้ปล้นไม่เว้นแต่ละวัน ในวันเกิดเหตุหน่วยกองปราบได้ออกตรวจจับโจรผู้ร้ายมาถึงวัดตลาดใหม่ช่วงตอนประมาณ 5 โมงเย็น ปรากฏมีกระยางฝูงใหญ่จับอยู่บนยอดมะขามยักษ์คลุมกุฏิหลวงพ่อซำ จึงด้อมๆ มองๆ ทำท่าจะยิงนก พอดีหลวงพ่อเห็นเข้าจึงขอบิณฑบาต แต่เจ้าหน้าที่คนนั้นไม่ได้สนใจจึงยิงนก ปรากฏว่ายิงไม่ออก ต่างก็พากันมากราบขอขมาหลวงพ่อและกราบขอวัตถุมงคลติดตัว แต่หลวงพ่อบอกว่าท่านไม่ได้ออกของ
อีกเรื่องหนึ่งที่คุณตาหวลเล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นจอมพลป.พิบูลสงคราม ท่านได้ยินกิตติศัพท์และจริยวัตรของหลวงพ่อซำ จึงมีความเคารพศรัทธาเลื่อมใส ท่านได้มอบหมายให้นายทหารคนสนิทมานิมนต์หลวงพ่อไปกรุงเทพฯ เพื่อถวายภัตตาหารเพลที่บ้านของท่าน ในสมัยก่อนต้องอาศัยเดินทางทางเรือ วันนั้นหลวงพ่อเดินทางโดยเรือสำปั้นพร้อมกับลูกศิษย์ แต่ด้วยขณะนั้นเป็นช่วงฤดูแล้ง น้ำจึงแห้งขอดคลองวัดตลาดใหม่ ต้องใช้วิธีโยงเรือทั้งสองข้างเพื่อลากโยงเรือ จากวัดตลาดใหม่จะออกสู่แม่น้ำน้อยระยะทางประมาณ 6 ก.ม. ขณะที่เรืออยู่ระหว่างกลางทางบริเวณก่อนถึงวัดโพธิ์ปล้ำ หลวงพ่อได้เห็นคนกำลังจะยิงนกกระยาง ท่านนึกสงสารจึงอาราธนา ปรากฏว่าคนๆ นั้นยิงนกไม่ออกเช่นกัน
ขอขอบคุณ คุณสมชัย จงทวีทรัพย์ คุณบุญส่ง รอดเสียงล้ำ (ลุงส่งคานเรือ) คุณไพชยนต์ ดิษพงศ์ (ครูปู ร.ร.อนุบาลวัดนางใน) ที่กรุณาให้ข้อมูลและรูปถ่ายเพื่อเผยแพร่กิตติคุณของหลวงพ่อซำ วัดตลาดใหม่ครับ
บทความโดย คุณแทน ท่าพระจันทร์
http://jeabpraram7.igetweb.com/?mo=3&art=460002
หลวงพ่อซำ วัดตลาดใหม่ พระเกจิแห่งเมืองวิเศษชัยชาญ เคยไปทอดกฐินที่วัดนี้ เมื่อตอนเล็กๆกับคุณพ่อ เลยไปคุย ท่านเล่าให้ฟังว่าสมัยนั้น หลวงพ่อยังอยู่ คุณพ่อบวชที่นี่เพราะเป็นบ้านเกิด ท่านยังเล่าว่า คนที่รู้เรื่องหลวงพ่อดีที่สุดต้องเป็นผู้ใหญ่นงบ้านหลักขอน เพราะเป็นศิษย์ก้นกุฏิ ตอนนี้ไม่รู้ยังอยู่หรือเปล่าถ้าอยู่อายุก็ราวๆ 80 แล้ว ส่วนลุงส่ง รอดเสียงล้ำ กับลุงหวล คุณพ่อก็ยืนยันว่าทั้งสองท่านรู้จักหลวงพ่อ โดยเฉพาะลุงหวลอยู่ใกล้ๆวัดและจ้ดเป็นผู้ใกล้ชิดหลวงพ่อคนหนึ่ง ส่วนตระกูลรอดเสียงล้ำก็เป็นตระกูลเก่าของที่นี่ ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับหลวงพ่อจึงถูกต้อง โดยเฉพาะท่านเก่งเรื่องยาแผนโบราณมาก พอดีคุณพ่อมีรูปหล่อหลวงพ่ออยู่เลยนำมาลงให้ชมกัน ส่วนผ้ายันต์มีโอกาสจะถ่ายมาให้ชมกันครับ เหรียญปี 2506ด้วยครับ
"...หลวงพ่อท่านเป็นพระเถราจารย์อีกรูปหนึ่งที่มีอายุยืน ท่านเกิดวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2415 ถ้านับพระเกจิอาจารย์ที่สร้างเบี้ยแก้สายอ่างทองแล้วถือว่าท่านอาวุโสที่สุด ท่านมรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2509 สิริอายุได้ 94 ปี พรรษาที่ 71
สำหรับประสบการณ์ที่เล่าโดยคุณบุญส่ง รอดเสียงล้ำ ได้เล่าให้ฟังว่า ลูกชายของแกได้ขับรถจักรยานยนต์แหกโค้งคว่ำได้รับบาดเจ็บ ขณะขับรถซึ่งเป็นถนนลูกรัง ปรากฏว่าบริเวณนั้นเป็นโค้งหักศอก เวลาประมาณบ่ายสี่โมงเย็น ด้วยความรีบเร่งขับรถด้วยความเร็วสูง ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำศีรษะฟาดพื้นถนน โดยที่ไม่ได้ใส่หมวกกันน็อก ผมขาดเป็นกระจุก แต่ที่ศีรษะไม่เป็นอะไร ส่วนบริเวณหัวเข่ากลับเป็นแผลยาว 3 นิ้ว ผู้ประสบเหตุช่วยนำส่งสถานีอนามัยโรงช้าง ขณะที่เจ้าหน้าที่อนามัยกำลังทำการเย็บแผลที่หัวเข่าปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเย็บแผลได้ เข็มแทงไม่เข้า เข็มหักถึง 8 เล่ม คุณลุงคนหนึ่งจึงสงสัยว่าพ่อหนุ่มคนนี้คงจะมีของดี จึงเอ่ยปากว่ามีอะไรติดตัว ให้เอาออกเสียก่อน ปรากฏว่ามีเหรียญหลวงพ่อซำ ปี"06 และเบี้ยแก้อาถรรพณ์ของหลวงพ่อซำ จึงให้เอาออกเสียก่อน จากนั้นเจ้าหน้าที่อนามัยจึงสามารถทำการเย็บแผลได้.."
ขอบคุณข้อมูลจากคอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง
http://jeabpraram7.igetweb.com/?mo=3&art=460002
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น